นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง

หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์


พันตรีหม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2445 ณ ถนนตรีเพชร อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร
เป็นบุตรคนที่ 2 ของ ม.ร.ว.เล็ก-ม.ล.ปุ้ย เดชาติวงศ์ ภริยาชื่อ นางหวลกลิ่น (ศรุตานนท์) มีบุตรธิดา 3 คน
 คือ สุธี เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา กุศลิน ศรียาภัย และ กีรติ เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา
ได้รับทุนของการรถไฟไปศึกษาวิชาวิศวกรรมโยธา ที่อังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2463 
ได้รับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม 
แล้วกลับมารับราชการกรมรถไฟหลวงเมื่อปี 2469
ครั้น พ.ศ.2477 ย้ายเข้ารับราชการในตำแหน่งนายช่างชั้น 2 กองทางกรมโยธาเทศบาล 
ได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้ากองทาง นายช่างใหญ่กรมโยธาเทศบาล และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวง พ.ศ.2484 
โดยระหว่างรับราชการในกองทางและกรมทางหลวง 
ท่านอำนวยการสร้างทางหลวงหลายสาย เช่น ทางสายตาก-แม่สอด สายแม่สาย-เชียงตุง 
ต่อมาขึ้นเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2486
ด้านการเมือง หม่อมหลวงกรีเป็นบุคคลสำคัญในคณะราษฎร เป็นเสรีไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 2 สมัย ในรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม 
เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ 
และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
พันตรีหม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอุบัติเหตุขณะนั่งรถยนต์เดินทางไปตรวจสภาพทางรถไฟสายกาญจนบุรี-พม่า 
ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยึดมาจากญี่ปุ่น รถยนต์ตกเหวลึก 16 เมตร ถึงแก่อนิจกรรมทันที เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2490 อายุ 45 ปี 
ราชการได้ขนานนามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบนทางหลวงสายพหลโยธินที่นครสวรรค์ว่า สะพานเดชาติวงศ์ไว้เป็นอนุสรณ์

       

สะพานเดชาติวงศ์ เป็นสะพานรถยนต์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน 
ก่อนเข้าสู่ใจกลางเมืองจังหวัดนครสวรรค์ เป็นสะพานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย 
ชื่อของสะพานนั้นมาจากชื่อสกุลของพันตรีหม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ อธิบดีกรมทางหลวงในสมัยนั้น 
ก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2483  เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กมีความยาว 404.5 เมตร ทางรถกว้าง 6.50 เมตร 
ทางเท้าข้างสะพาน 1 เมตร สะพานแห่งนี้เป็นสะพานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยในการเดินทางเข้าสู่จังหวัดทางภาคเหนือ 
และนอกจากนี้ยังเป็นจุดชมวิวแม่น้ำสองสีที่สวยงามที่สุดอีกจุดหนึ่งด้วย

ในปี พ.ศ. 2512 กรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 32 ตอน บางปะอิน-นครสวรรค์ 
จึงได้สร้างสะพานขึ้นอีกสะพานหนึ่งคู่กับสะพานเดชาติวงศ์เดิม เรียกว่า สะพานเดชาติวงศ์ 2 
โดยเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กคู่ขนานไปกับสะพานเดชาติวงศ์เดิม และเปิดใช้เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2514 
ต่อมาได้มีการสร้างสะพานเดชาติวงศ์ 3 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 และสร้างเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2536

ปัจจุบันนี้ สะพานเดชาติวงศ์จะเปิดใช้งานเพียง 2 สะพาน คือ สะพานเดชาติวงศ์ 2 และ 3 
ส่วนสะพานเดชาติวงศ์ 1 ทางจังหวัดนครสวรรค์จัดไว้เป็น สะพานประวัติศาสตร์ ซึ่งใช้ในการจัดงานต่างๆของจังหวัด 
หรือเปิดให้ใช้งานได้ในกรณีฉุกเฉิน