การกำเนิดฟื้นตัวขึ้นใหม่

            เมื่ออาคารเรียนถูกระเบิดพังเสียหาย ไม่สามารถที่จะใช้ทำการสอนได้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับความร่วมมือจาก สมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ และความอุปการะของวัด โดยที่ทางวัดได้เชิญ หม่อมหลวง ชูชาติ กำภู ผู้เป็นนักเรียนเก่า ขณะนั้นได้ดำรงอธิบดีกรมชลประทาน มาปรึกษาเห็นพ้องต้องกันว่ายังพอจะซ่อมแซมได้ ในส่วนของตึกเยาวมาลย์อุทิศและ ตึกปิยราชบพิตรปดิวรัดาจึงได้มอบให้อธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้อำนวยการจัดซ่อมด้วยโดยใช้ทุนบริจาคร่วมกันเป็นเงิน ๒๑๐,๖๗๒.๙๙บาท จนสามารถเปิดใช้เป็นที่เล่าเรียนได้ เมื่อกลางปีการศึกษา ๒๔๘๙ จึงได้ย้ายจากสุสานหลวงไปเรียน ที่ตึกทั้ง๒หลังนั้นบ้างที่ตึกนิภานภดล และ ที่ศาลาโถงข้างซุ้มประตูบ้าง ภายหลังรัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบ ประมาณ ให้สร้างตึกแม้นนฤมิตร ตึกโชฎึกเลาหะเศรษฐี ห้องอาหาร และห้องสุขา เป็นเงินประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐บาท สำหรับตึกโชฎึกเลาหะเศรษฐีนั้นคุณหญิงเพิ่ม โชฎึกราชเศรษฐี ได้ร่วมบริจาคสมทบด้วยสำหรับตึกนิภานภดลนั้นถูกระเบิด ลงตรงมุขด้านตะวันออกทำให้มุขนี้พังเสียหายตลอดทั้งหลัง โดยเฉพาะกระเบื้องประตูหน้าต่าง และ เพดานเกือบไม่มีที่ เหลือเลยวัดได้เริ่มซ่อมแซมมุขที่พังให้พอที่จะวางเครื่องบนได้ และ ตีระแนงมุงหลังคาตลอดทั้งหลังก่อน แล้วตีเพดาน เป็นบางห้อง ทำประตูให้เปิดปิดได้พออาศัยเป็นที่เรียนชั่วคราว สิ้นเงินค่าซ่อมประมาณ ๔๐,๕๕๖บาท และยังต้องซ่อม อีกภายหลังอีกประมาณ ๒๐,๐๐๐บาท ระหว่างที่ราชการกำลังสร้างตึกแมันนฤมิตร และ ตึกโชฏึกเลาหะเศรษฐีนั้นสถานที่ ไม่เพียงพอ สำหรับชั้นเรียนจึงต้องปลูกโรงไม้ไผ่มุงจาก ที่ริมกำแพงด้านหน้าโรงเรียน ใช้เป็นห้องเรียนมัธยมชั่วคราว