นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง

ตนกู อับดุล ราห์มาน


ตนกู อับดุล ระห์มัน
นายกรัฐมนตรีคนแรก ของประเทศมาเลเซีย 
ผู้นำการเรียกร้องเอกราชให้แก่ประเทศมาเลเซีย

ได้รับยกย่องเป็นบิดาแห่งประเทศมาเลเซียหรือ PaPa of Malaysia

ประวัติ

ตนกู อับดุล ราห์มัน เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 ที่วังอิสตานาเปอลามิน (Istana Pelamin) เมืองอลอร์สตาร์ รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในขณะนั้นยังอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร เป็นบุตรของเจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด) (เจ้าพระยาฤทธิสงคราม)[1] สุลต่านองค์ที่ 24 แห่งรัฐเกดะห์ กับหม่อมมารดาชาวไทยนามว่า หม่อมเนื่อง นนทนาคร[2] หรือมะเจ๊ะเนื่อง หรืออีกชื่อว่า ปะดูกา ซรี เจ๊ะเมินยาราลา (Paduka Seri Cik Menjalara) ชายาองค์ที่ 6 ของท่านสุลต่าน ซึ่งเป็นบุตรีของหลวงบุรานุรักษ์ เจ้าเมืองนนทบุรีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยตนกู อับดุล ราห์มันเป็นลูกชายคนที่ 14 จากบรรดาลูก 20 คนของสุลต่านอับดุลฮามิด

ตนกู อับดุล ราห์มัน มีพระเชษฐาร่วมพระมารดาคือ ร้อยเอกตนกู ยูซุฟ (รับราชการในกรมตำรวจ) เพื่อนสนิทของเจ้าคุณอนุสาสน์พณิชย์การ

ประวัติการศึกษา

เมื่อปี พ.ศ. 2452 (ค.ศ. 1909) ตนกู อับดุล ราห์มัน ได้เข้าศึกษาในชั้นประถมมาเลย์ (Malay Primary School) ที่ถนนบาฮารู (Jalan Baharu) ในเมืองอลอร์สตาร์ ประเทศมาเลเซีย ต่อด้วยเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนในปกครองของอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันเป็นวิทยาลัยสุลต่านอับดุลฮามิด

ท่านตนกู อับดุล ราห์มาน ท่านเป็นนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในปี พ.ศ. 2456 ขณะที่มีอายุ เพียง 10 ขวบ ถูกส่งตัวมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับพี่ชายของเขาอีก 3 คน ท่านเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นและเพื่อนสนิท คือ ถวิล คุปตารักษ์ หรือหลวงถวิลเศรษฐพาณิช เรียนอยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ 2 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2456-2458 ต่อมาปี พ.ศ. 2458 เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนปีนังฟรีสกูล(Penang Free School)

ปี พ.ศ. 2461 ท่านเป็นนักเรียนคนแรกที่ได้ทุนจากรัฐบาลของรัฐเกดะห์ ที่ไปศึกษาในสหราชอาณาจักร ไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยเซนต์แคทรีน (St Catharine's College) ในมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และได้รับปริญญาบัณฑิตสาขาศิลปศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1925

หลังจากกลับมาจากอังกฤษทำงานอยู๋ช่วงเวลาหนึ่ง ได้เดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายต่อ ที่ Inner Temple ที่ประเทศอังกฤษ แต่ต้องหยุดเรียน ในปี ค.ศ. 1938 เนื่องจากช่วงนั้นได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2ขึ้น ทำให้เขาต้องหยุดเรียนและกลับมาที่มาเลเซีย หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ในปี ค.ศ. 1947 จึงกลับไปศึกษาที่ Inner Temple อีก และจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1949

ประวัติการทำงาน

หลังจบการศึกษาอับดุลราห์มานเข้ารับราชการในเกดะห์ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ปกครองที่เขตกูลิม (Kulim) และ สุไหงปตานี (Sungai Petani) ในอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ได้รับเลือกให้เป็นประธานของสมาคมมาเลย์ของสหราชอาณาจักร (the Malay Society of Great Britain)

ปี ค.ศ. 1949 ในช่วงแรกของอาชีพนักการเมือง เขาได้เข้ารับงานราชการเป็นที่แรกที่สำนักงานกฎหมายของเมืองอลอร์สตาร์ ต่อมาเมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นอัยการก็มีคำสั่งให้ย้ายไปประจำที่ กัวลาลัมเปอร์ และหลังจากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานศาล ในช่วงเวลานั้นได้มีกลุ่มลัทธิชาตินิยมในมาเลย์ ในการต่อต้านสหภาพมาลายาของอังกฤษ (Britain's Malayan Union) นำโดย ดาโต๊ะอันจาฟาร์ (Datuk Onn Jaafar) นักการเมืองของมาเลเซียที่เป็นผู้นำขององค์การประชาชาติมาเลเซียหรือพรรคแนวร่วมแห่งสหพันธ์มลายา (UMNO ที่เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ในมาเลเซีย) และท่านตนกู อับดุล ราห์มาน ได้สมัครเข้าร่วมกับพรรคอัมโน (UMNO) ท่านเป็นนักการเมืองเชื้อสายชาวมาเลย์ที่ได้รับความนิยมและยอมรับจนได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสาขาของพรรคอัมโนในรัฐเกดะห์

เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1951 เกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นได้รับเลือกให้เป็นประธานพรรคแนวร่วมแห่งสหพันธ์มาลายา (UMNO) คนใหม่และดำรงตำแหน่งเป็นเวลานานถึง 20 ปี และ จนในปี ค.ศ.1954 เป็นตัวแทนคณะผู้แทนเจรจาขอเอกราชมาเลเซียคืนจากสหราชอาณาจักร

ปี ค.ศ. 1955 มีการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก พรรคชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากแบบถล่มทลายในสภา ท่านได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย นับเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1957 จนถึง22 กันยายน ค.ศ. 1970 และหลังชัยชนะจากการเลือกตั้งท่านยังรณรงค์ต่อสู่เรียกร้องเอกราชคืนจากสหราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา

31 สิงหาคม ค.ศ. 1957 เป็นวันที่สหพันธ์มาเลเซียได้รับอิสรภาพคืนจากอังกฤษ ท่านได้นำฝูงชน ไปตะโกนร้องว่า "Merdeka!" หมายถึง อิสรภาพ ต่อมาในปี ค.ศ. 1963 รวมรัฐซาบาห์และซาราวัก รวมทั้งสิงคโปร์เข้าด้วยกัน จึงเป็นประเทศมาเลเซียอย่างสมบูรณ์แบบ

ปี ค.ศ. 1961 ได้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน (ASA - the Association of Southeast Asia) ที่ภายหลังในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1967 เปลี่ยนมาเป็น ASEAN (the Association of Southeast Asian Nations)

ในด้านศาสนา ท่านเป็นผู้ริเริ่มงานให้กับศาสนาอิสลามในรัฐเกดะห์ มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 จนพัฒนาความคิดต่อยอด จัดตั้ง the Isสamic Welfare Organisation (PERKIM) ในปี ค.ศ. 1960 จนได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานของ PERKIM จนถึงปี ค.ศ. 1989 รวมทั้งใน ค.ศ. 1969 มีส่วนช่วยในการจัดตั้ง the Organisation of Islamic Conference (OIC) และจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลามขึ้น (the Islamic Development Bank) และได้รับการแต่งแต่งเป็นผู้นำเป็นประธานของ the Regional Islamic Da’wah council of South East Asia and Pacific (RISEAP) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1982-1988

ในด้านการกีฬาท่านส่งเสริมสนับสนุนให้มาเลเซีย จัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการแข่งขันฟุตบอลเฉลิมฉลองเอกราชมาเลเซียหรือฟุตบอลเมเดก้า (an International football tournament ,the Pestabola Merdeka) ขึ้นในปี ค.ศ. 1957 หลังจากที่ได้เอกราชคืนจากอังกฤษ ท่านได้รับเลือกเป็นประธานคนแรกของสมาคมฟุตบอลอาเซียน (the Asian Football Confederation –AFC ) ดำรงตำแหน่งจนถึงปี ค.ศ.1976

ในด้านกีฬาแข่งม้า เป็นที่ชื่นชอบโปรดปรานชมและเล่นพนันเสี่ยงโชคเป็นประจำที่ the Selangor Turf Club

ในด้านสื่อสารมวลชน ท่านได้เข้าเป็นประธานของหนังสือพิมพ์ในปีนังที่ชื่อว่าThe Star เขียนคอลัมภ์ “Looking Back”และ “As I see It”





สาสน์ของ ท่านตนกู อับดุล ราห์มาน
ส่งมาเพื่อระลึกถึง และอวยพรในโอกาสที่
โรงเรียนเทพศิรินทร์มีอายุครบ 100 ปี วันที่ 15 มีนาคม 2528
ข้อความเป็นภาษาไทย มีดังนี้


         โรงเรียนเก่าของข้าพเจ้า โรงเรียนเทพศิรินทร์ จะฉลองครบรอบศตวรรษในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2528  นี่ต้องนับเป็นสถิติอันสำคัญอย่างแท้จริงสำหรับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและเกียรติประวัติอันเป็นที่ทราบกันดีในหมู่คนไทยทั่วไป และ โดยเฉพาะได้รับความเคารพนับถือจากนักเรียนทั้งในอดีตและปัจจุบัน

         ข้าพเจ้าเองเป็นนักเรียนเก่ามานานหนักหนาแล้ว จะพูดให้แน่ก็คือ ข้าพเจ้ามาเข้าโรงเรียนนี้ประมาณปี พ.ศ.2456 ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนเก่ามากว่า ๗๐ปีแล้ว และข้าพเจ้ามีความภูมิใจอย่างแท้จริงที่ได้มีส่วน
เกี่ยวข้องกับโรงเรียนนี้ ข้าพเจ้ายังจำความเมตตาปราณีและความเอาอกเอาใจของคุณครู และ เพื่อนนักเรียน
และเพื่อนเล่นด้วยกันที่แสดงต่อข้าพเจ้าได้ดีมาจนทุกวันนี้ ชีวิตสมัยนั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เพราะว่า
เราไปโรงเรียนกันตอนแปดโมงเช้า และกลับเวลาบ่ายโมงเราจึงมีเวลาสำหรับเล่นสนุกกันตลอดทั้งบ่าย

         ข้าพเจ้ามีรถจักรยานคันหนึ่ง และข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนสนิทมากคือ ถวิล คุปตรักษ์ หลวงถวิลเศรษฐพาณิชยการ โดยขี่จักรยานไปเที่ยวทั่วกรุงโดยไม่มีควันน้ำมันมาทำให้อากาศอันบริสุทธิ์เป็นพิษหรือกีดกั้นหนทางของเรา มันช่างผิดกับทุกวันนี้เหลือเกิน

          เราเคยไปหาของรับประทานที่บริเวณเชิงสะพานยศเส และข้าพเจ้าจำได้ว่า เนื้อสะเต๊ะไม้หนึ่งเคยมีราคาเพียงสตางค์เดียว และในเวลากลางคืนบางทีเราก็ไปที่ถนนราชวงศ์ เพื่อรับประทานข้าวต้ม ทั้งหมดนี้นับเป็นชีวิตที่
แสนสนุกสบาย ในฐานะที่เป็นลูกเสือ เรามักจะมีการพบปะและชุนนุมกันในเมื่อมีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมโรงเรียน
ข้าพเจ้าเคยมีความภูมิใจในการที่ได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือ

          โรงเรียนได้เติบโตและเจริญก้าวหน้าขึ้นมาเรื่อยๆ และโรงเรียนนี้ได้ผลิตนักเรียนเก่าซึ่งได้เป็นนักการเมือง นายพล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และบุคคลในวงการทูตมาแล้วมากมาย ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันคงจะต้องมีความภาคภูมิใจในโรงเรียนเก่าของเขาเช่นเดียวกับข้าพเจ้าใรวาระที่ครบรอบร้อยปีนี้ เพื่อนนักเรียนรุ่นข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่อีกสักกี่คนข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่คงจะมีไม่มากนัก ชีวิตของข้าพเจ้าตอนที่เป็นนักเรียนอยู่ที่นี่จะยังคงอยู่ในความทรงจำอย่างผาสุกยิ่งตลอดไป

         ข้าพเจ้าไม่สามารถจะมาร่วมกับท่านทั้งหลายในโอกาสอันเป็นมงคลและเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับนักเรียนเก่าและใหม่คราวนี้ได้ ข้าพเจ้าจึงขอตั้งความปรารถนาให้ โรงเรียนประสบความสุขเจริญยิ่งๆ
ขึ้นไป ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะร่วมกับนักเรียนปัจจุบันและนักเรียนในอดีตที่จะตั้งความปรารถนาให้โชคดี
และสำเร็จบังเกิดแก่โรงเรียนของเราตลอดไป