นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง

พระยามานวราชเสวี


พระยามานวราชเสวี (นามเดิม ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) (18 กันยายน พ.ศ. 2433 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527) อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 9 เป็นเวลา 15 ปี อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อดีตอธิบดีกรมอัยการ เลขาธิการเนติบัณฑิตยสภา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกสภากรรมการองคมนตรีในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีและองคมนตรีในรัชกาลที่ 9
พระยามานวราชเสวี เป็นบุตรพระอนันตสมบัติ (เอม) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เกิดที่บ้านพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นน้องชายร่วมบิดามารดากับ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เจ้าพระยาคนสุดท้ายของประเทศไทย อดีตประธานองคมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานรัฐสภา เลขาธิการเนติบัณฑิตยสภา รัฐมนตรี (เสนาบดี) หลายกระทรวง
หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนราชวิทยาลัย ได้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
การศึกษา (ตามลำดับ)
โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก (อสช 971)
โรงเรียนเทพศิรินทร์
โรงเรียนราชวิทยาลัย (ปัจจุบันคือโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ )
พ.ศ. 2456 ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงของกระทรวงยุติธรรม ไปศึกษาต่อกฎหมายที่โรงเรียนอินเนอร์เทมเปิล (Inner Temple) ประเทศอังกฤษ
พระยามานวราชเสวี มีบุตรชายคนเดียว ชื่อ วิรัช ณ สงขลา สมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงวุฒิเฉลิม วุฒิไชย มีบุตรชายสองคน ชื่อ เดชาภิวัฒน์ และ ณัฐญาดา ณ สงขลา
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
 เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)
 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
 เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 4 (ป.ป.ร.4)
 เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 2 (อ.ป.ร.2)
 เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)
พระยามานวราชเสวี

ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
3 สิงหาคม พ.ศ. 2479 – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2480
สมัยก่อนหน้า เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
สมัยถัดไป พระยาศรยุทธเสนี
ดำรงตำแหน่ง
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2488
สมัยก่อนหน้า พระยาศรยุทธเสนี
สมัยถัดไป เกษม บุญศรี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด 18 กันยายน พ.ศ. 2433
เสียชีวิต 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 (94 ปี)
ชาตะ

พระยามานวราชเสวี มีนามเดิมว่า ปลอด วิเชียร ณ สงขลา เกิดที่บ้านพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ถนนวิเชียรชม ตำบลบ่อยาง อำเภอกลาง จังหวัดสงขลา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พุทธศักราช 2533 เป็นบุตรพระอนันตสมบัติ (เอม) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา กับท่านเชื้อบุตรีหลวงอุปการโกศากร (เวช วัชราภัย) กับท่านปั้น บุตรีเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม้น)
พระยามานวราชเสวี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา คือ
1. หญิง ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์
2. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ถึงแก่กรรม
3. ชาย ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์
4. พระยามานวราชเสวี
5. ชาย ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์
ท่านเชื้อเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าจอมกุหลาบ ในรัชกาลที่ 4 พี่สาวท่านปั้นได้ขอไปเลี้ยงแต่ยังเยาว์ อยู่ในพระบรมมหาราชวัง มีโอกาสรู้จักเจ้านายหลายพระองค์ เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าจอมกุหลาบได้กราบถวายบังคมลาไปอยู่กับเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม้น) บิดาที่จังหวัดสงขลาได้พาท่านเชื้อไปด้วย จึงได้โอกาสแต่งงานกับพระอันตสมบัติ (เอม) มีเคหสถานที่จังหวัดสงขลาได้อยู่ร่วมกันเป็นสุขสบายเป็นเวลา 20 ปี
ในปีพุทธศักราช 2437 ครอบครัวได้ย้ายจากจังหวัดสงขลามาพร้อมกับบุตรทั้งสอง ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 9 และ 4 ปี ตามลำดับ และเอาทรัพย์สินส่วนตัวที่ได้รับมรดกจากเจ้าจอมกุหลาบมาตั้งเคหสถานอยู่ใหม่ที่บ้านท่านปั้นมารดา ถนนสีลม อำเภอบางรัก กรุงเทพฯ
การสมรส

พระยามานวราชเสวี สมรสกับท่านผู้หญิงศรี ณ สงขลา ท.จ.ว.(นามสกุลเดิม ลพานุกรม) บุตรีนายเจริญ ลพานุกรม กับคุณนายเนียร (นามสกุลเดิม โปษยานนท์) มีบุตรหนึ่งคน คือนายวิรัช ณ สงขลา สมรสกับหม่อมเจ้าหญิงวุฒิเฉลิม วุฒิชัย มีบุตรสองคน คือ เดชาภิวัฒน์และณัฐญาดา ณ สงขลา
การศึกษา
พระยามานวราชเสวี เริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญเมื่อปี พ.ศ. 2443 วันหนึ่งเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อครั้งเป็นพระยาวิสูทธสุริยศักดิ์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการและเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการได้ไปเยี่ยมท่านเชื้อมารดาของพระยามานวราชเสวีที่บ้านรับปากจะเป็นผู้ดูแลเรื่องการศึกษาให้กับพระยามานวราชเสวี เจ้าคุณวิสูทธฯ ให้ลาออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญไปเข้าโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นโรงเรียนประถมและเป็นโรงเรียนตัวอย่าง เรียนได้ 1 ปี เจ้าคุณวิสูทธฯ ให้ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนราชวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนประจำมีนักเรียนในเวลานั้น 50 คน มีครูฝรั่ง 4 คน ครูไทย 6 คน ค่าเล่าเรียนแพงแต่ได้ผล การศึกษาของพระยามานวราชเสวี พัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนมีโอกาสสอบมัธยมพิเศษชิงทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2454 สอบไล่กฎหมายไทยได้เป็นเนติบัณฑิต พอต้นปีพุทธศักราช 2456 ได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรมไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศอังกฤษ
เรียนกฎหมายอยู่เพียง 2 ปี พระยามานวราชเสวีก็สอบเนติบัณฑิตอังกฤษได้ปริญญา Barrister - at - law (Inner Temple) และได้เข้าทำงานในสำนักงานทนายความของ Sir Hugh Fraser พร้อมทั้งได้ศึกษาและดูงานศาลของประเทศอังกฤษทุกระดับจนถึงศาลสูงสุด
อุปสมบท

ในปีพุทธศักราช 2455 ก่อนเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ พระยามานวราชเสวีกราบทูลขออุปสมบทที่วัดบวรนิเวศ เพื่อทำให้มารดาดีใจที่ได้ชุบเลี้ยงมา พระยามานวราชเสวีได้ศึกษาเต็มสติปัญญาและความสามารถเป็นเวลา 4 เดือนสอบไล่วินัยบัญญัติได้ที่ 1 สอบธรรมะคิหิปฏิบัติและพุทธประวัติได้คะแนนดีมาก เขียนกระทู้ธรรมได้ที่ 1 หลายคราวเป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ประทานพระรูปและรับสั่งให้ไปดูการสอนเด็กในวันอาทิตย์ที่ประเทศอังกฤษ
การรับราชการและงานพิเศษ

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พ.ศ. 2451-2453
พ.ศ. 2451
เป็นนักเรียนล่ามภาษาอังกฤษ ประจำกองล่าม กระทรวงยุติธรรมได้รับพระราชทานเงินเดือน 30.-บาท เสด็จในกรมหลวงราชบุรีรับสั่งเรียกไปใช้สอย ให้พิมพ์หนังสืออังกฤษและเขียนหนังสือเป็นครั้งคราว อีกสองเดือนต่อมาได้เงินเดือนขึ้นอีก 5 บาท เป็นเดือนละ 35.-บาท ในปลายปีได้เลื่อนตำแหน่งเป็นล่ามภาษาอังกฤษ แปลหนังสือไทยเป็นอังกฤษ แปลหนังสืออังกฤษเป็นภาษาไทย ได้เงินเดือน ๆ ละ 50.-บาท
พ.ศ. 2452
เป็นล่ามภาษาอังกฤษในกรมร่างกฎหมาย ได้เงินเดือน ๆ ละ 50.- บาท มีงานแปลกฎหมายไทยเป็นอังกฤษ แต่มีกรรมการร่างกฎหมายที่เป็นคนไทยตรวจอีกชั้นหนึ่ง พิมพ์ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1-2-3 เสด็จในกรมหลวงราชบุรีได้ทรงเรียกไปใช้มากขึ้น ต่อมาทรงสั่งให้ย้ายไปเป็นล่ามที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลคดีต่างประเทศชื่อ Mr.M.F.Buszard ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาศาลกงสุลอังกฤษ เมื่อเลิกศาลกงสุลได้โอนมาอยู่ศาลไทยให้แปลการซักถามของทนายความและคำให้การของคู่ความในศาลภาษาไทยเป็นอังกฤษและแปลความเห็นของที่ปรึกษาภาษาอังกฤษเป็นไทย ในสมัยนั้นทนายความที่มีชื่อเสียงเป็นคนอังกฤษหลายคน เป็นฝรั่งเศสคนหนึ่ง การพิจารณาในศาลนี้เป็นไปในทำนองกฎหมายอังกฤษ พระยามานวราชเสวีได้เห็นการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและอาญาการว่าความทั้งคดีแพ่งและอาญา เห็นการงานของศาลในทางธุรการทุกอย่าง ต้องศึกษาให้รู้ของจริง เกรงว่าเสด็จในกรมหลวงราชบุรีจะทรงเรียกไปซักถาม
พ.ศ. 2453
เป็นล่ามภาษาอังกฤษ ประจำศาลคดีต่างประเทศได้เงินเดือน ๆ ละ 50.-บาท

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พ.ศ. 2453-2468
พ.ศ. 2453
เป็นล่ามภาษาอังกฤษ ประจำศาลคดีต่างประเทศ เงินเดือน 50.-บาท
พ.ศ. 2454
เป็นล่ามภาษาอังกฤษประจำศาลคดีต่างประเทศ เงินเดือน 50.-บาท ในปลายปีนี้สอบไล่กฎหมายไทยได้เป็นเนติบัณฑิต ในสมัยนั้นคนที่สอบไล่กฎหมายไทยได้ ต้องฝึกหัดเป็นผู้พิพากษาอยู่อย่างน้อย 6 เดือน ได้เงินเดือน ๆ ละ 120.-บาท แต่พระยามานวราชเสวีเคยเห็นงานในศาลมาแล้ว อธิบดีศาลต่างประเทศขอให้กระทรวงยุติธรรมตั้งเป็นผู้พิพากษา
พ.ศ. 2455
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ เงินเดือน ๆ ละ 240.-บาท ลาไปอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร 4 เดือน สอบไล่ได้องค์นวกชั้นเอก สอบวินัยบัญญัติได้ที่ 1
พ.ศ. 2456
กระทรวงยุติธรรมมีคำสั่งให้เดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายอังกฤษที่ลอนดอน ได้เงินค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเป็นเงินปีละ 350.-ปอนด์ ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยเรือบรรทุกสินค้าไปถึงสิงคโปร์แล้วขึ้นเรือลำใหญ่ที่สิงคโปร์เป็นเรือญี่ปุ่น ถึงเมืองท่าที่มาเซล ประเทศฝรั่งเศสตอนใต้ ขึ้นรถไฟจากมาเซลไปปารีสและไปลอนดอนเป็นเวลาหนึ่งเดือน พอถึงลอนดอนผู้ดูแลให้เรียนกฎหมายโรมันทันที แต่ได้เรียนภาษาอังกฤษและวิชาอื่นไปด้วย ตั้งใจจะสอบแมตตริกกูเลชั่น เพื่อเข้าโรงเรียนอินเนอร์เตมเปิล
พ.ศ. 2456
ได้เข้าศึกษาวิชากฎหมาย ที่โรงเรียนอินเนอร์เตมเปิล (Inner Temple)
พ.ศ. 2459
วันที่ 18 พฤศจิกายน สอบไล่กฎหมายอังกฤษได้ปริญญา Barister-at-Law ได้เข้าทำงานในสำนักงานทนายความของเซอร์ฮิวเฟรเซอร์ ด้วยความประสงค์จะศึกษาเรื่องหาข้อเท็จจริง การเตรียมคดีและการว่าความในศาล การเขียนฟ้อง คำให้การ การแถลงการในศาล การเขียนคำพิพากษาและคำสั่งของศาล ต้องการจะรู้ว่า พลตำรวจมีความรู้อย่างไร นายตำรวจมีความรู้อย่างไร ตำรวจทำคดีขึ้นมาอย่างไรและจะไปดูศาลอังกฤษทุกระดับจนถึงศาลสูงสุดคือ House of Lord ด้วยความอนุเคราะห์ของ Sir Hugh Fraser ได้เห็นทุกอย่างในที่สุดทราบว่าการเป็นอธิบดีกรมอัยการที่เสด็จในกรมหลวงราชบุรีตั้งพระทัยจะให้ทำงานในตำแหน่งนี้ว่าลำบากคือต้องเป็นที่ปรึกษากฎหมายของกระทรวงต่าง ๆ ว่าคดีแพ่งและอาญาแทนรัฐบาลว่าความสำคัญในคดีอาญา ปรับปรุงผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เข้ากับตำรวจที่สืบสวนและไต่สวน และข้าราชการฝ่ายปกครอง กับจะต้องเข้ากับศาลให้ได้เป็นของยากมากจึงไม่คิดจะทำ จะขออยู่ศาลจนตลอดไป
พ.ศ. 2460
ในเดือนมิถุนายน กลับถึงกรุงเทพฯได้ไปเฝ้าเสด็จในกรมหลวงราชบุรีรับสั่งว่าได้เรียนตามที่วางแนวให้ศึกษา ประทานพระรูปให้หนึ่งรูป ได้เข้าทำงานที่ศาลคดีต่างประเทศตามเดิม ในเดือนกรกฎาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้พิพากษาศาลางประเทศ เงินเดือน 300.-บาท ในเดือนธันวาคม วันที่ 19 เป็นรองอำมาตย์เอก ในเดือนธันวาคม วันที่ 20 เป็นหลวงอินปัญญา ในเดือนมกราคม วันที่ 28 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้ช่วยสมุหพระนิติศาสตร์ กระทรวงวัง เงินเดือน 300.-บาท ในเดือนกุมภาพันธ์วันที่ 12 เป็นรองเสวกเอก
พ.ศ. 2461
เดือนเมษายน วันที่ 1 เป็นผู้ช่วยสมุหนิติศาสตร์ กระทรวงวังเงินเดือน 500.-บาท เดือนพฤษภาคม เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย มูลคดีสัญญาและสัญญาบางเรื่อง เช่น เช่า วาน ยืม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเดือนกันยายน วันที่ 14 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระมานวราชเสวี ในเดือน ธันวาคม วันที่ 20 เป็นเสวกตรี ในเดือนธันวาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นกรรมการสอบความรู้กฎหมายชั้นเนติบัณฑิต ในเดือนมกราคม เป็นกรรมการที่ปรึกษาแห่งเนติบัณฑิตสภา ในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นกรรมการสอดส่องความประพฤติทนายความ
พ.ศ. 2462
เดือนพฤษภาคมวันที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นเลขานุการกรมร่างกฎหมายในกระทรวงยุติธรรม เงินเดือน 500.-บาท ในเดือนมกราคมวันที่ 9 เป็นกรรมการแปลประมวลกฎหมาย เงินเดือน 500.-บาท ในเดือนตุลาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการสอบความรู้กฎหมาย ชั้นเนติบัณฑิต ในเดือนธันวาคมวันที่ 10 เป็นอำมาตย์โท
พ.ศ. 2463
ในเดือนเมษายน เป็นกรรมการแปลประมวลกฎหมายเงินเดือน 600.-บาท ในเดือนตุลาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นกรรมการสอบความรู้กฎหมายในเดือนพฤษภาคมเป็นอาจารย์สอนกฎหมายลักษณสัญญาและสัญญาบางเรื่อง เช่น เช่า วาน ยืม ที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในเดือนพฤศจิกายน องค์สภานายิกา แห่งสภากาชาดไทย โปรดเกล้าฯให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาสภากาชาด ในเดือนพฤศจิกายน เป็นอำมาตย์เอก ในเดือนมกราคมเป็นเลขาธิการเนติบัณฑิตสภา
พ.ศ. 2464
ในเดือนเมษายนเป็นกรรมการแปลประมวลกฎหมายเงินเดือน 700.-บาท ในเดือนพฤษภาคมวันที่ 13 พระยามานวราชเสวีสมรสกับท่านผู้หญิงมานวราช ท.จ.ว. บุตรีนายเจริญ ลพานุกรม กับคุณนายเนียร (นามสกุลเดิม โปษยานนท์) มีบุตรหนึ่งคนชื่อ วิรัช ณ สงขลา มีหลานสองคนชื่อ เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา และณัฐญาดา ณ สงขลา ในเดือนตุลาคมและธันวาคม เป็นกรรมการสอบความรู้กฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ในวันที่ 30 ธันวาคม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยามานวราชเสวี
พ.ศ. 2465
ในเดือนพฤศจิกายน เป็นผู้ประจำอยู่กับประธานในการประชุมผู้แทนสภากาชาด นานาประเทศ ในประเทศไทย ที่ศาลาสหทัยในพระบรมมหาราชวัง ในเดือนพฤศจิกายน วันที่ 2 เป็นมหาอำมาตย์ตรี ในเดือนธันวาคม เป็นกรรมการสอบความรู้กฎหมาย
พ.ศ. 2466
ในเดือนตุลาคม เป็นกรรมการร่างกฎหมายเงินเดือน 700.-บาท ในเดือนพฤษภาคม เป็นผู้บังคับการโรงเรียนกฎหมายในกระทรวงยุติธรรม ในเดือนตุลาคม เป็นกรรมการสอบไล่กฎหมาย
พ.ศ. 2467
ในเดือนกรกฎาคมเป็นกรรมการร่างกฎหมาย เงินเดือน 800.-บาท ในเดือนมิถุนายน เป็นบรรณารักษ์แห่งเนติบัณฑิตสภา ในเดือนสิงหาคมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นกรรมการและผู้อำนายการแผนกการปกครองในสภานิติศึกษา กับเป็นกรรมการสอบความรู้กฎหมาย
พ.ศ. 2468
ในเดือนเมษายนวันที่ 1 เป็นกรรมการร่างกฎหมาย เงินเดือน 850.-บาท ในเดือนกันยายนเป็นกรรมการอำนวยการ เลขาธิการ เหรัญญิกสร้างพระรูปจำหลัก กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ และรูปจำหลักเจ้าพระยาอภัยราชา (โรแลงยัคแมงล์) ในเดือนตุลาคม วันที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลโบริสภา และศาลจังหวัดเขตพระนคร เงินเดือน 850.-บาท
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) พ.ศ. 2468-2477
พ.ศ. 2468
ในเดือนมีนาคม เป็นปฏิคมแห่งเนติบัณฑิตสภา
พ.ศ. 2469
ในเดือนเมษายนวันที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศกรุงเทพฯ เงินเดือน 850.-บาท
พ.ศ. 2470
ในเดือนเมษายนวันที่ 1 ยังเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศกรุงเทพฯเงินเดือน 900.-บาท ในเดือนสิงหาคม เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ตั้งให้เป็นประธานกรรมการสอบความรู้แข่งขันเลือกเนติบัณฑิต เพื่อให้ทุนการศึกษาของกระทรวงยุติธรรม เพื่อไปศึกษาวิชากฎหมายในประเทศยุโรป ในเดือนกันยายน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นกรรมการองคมนตรีซึ่งมี 40 คน ตามพระราชบัญญัติองค์มนตรี พ.ศ. 2470 มาตรา 12 ในเดือนมีนาคมเป็นเหรัญญิก เนติบัณฑิตสภา
พ.ศ. 2471
ในเดือนกรกฎาคมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ในเดือนธันวาคมที่ 15 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นอธิบดีกรมอัยการ เงินเดือน 900.-บาท
พ.ศ. 2472
ในเดือนเมษายนยังเป็นอธิบดีกรมอัยการ เงินเดือน 1,000.-บาทในเดือนพฤศจิกายน เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้เป็นผู้แทนกระทรวงไปประชุมตรวจแก้ร่างพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่กระทรวงการต่างประเทศ ให้เป็นผู้แทนกระทรวงไปประชุมเพื่อแก้ร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง พร้อมด้วยกรรมการของกระทรวงการต่างประเทศที่กระทรวงยุติธรรม
พ.ศ. 2473
ในเดือนเมษายนยังเป็นอธิบดีกรมอัยการ เงินเดือน 1,050.-บาท
พ.ศ. 2474
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอุปนายกกรรมการองคมนตรี
พ.ศ. 2474
ในเดือนสิงหาคม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยโปรดเกล้าฯเป็นกรรมการแทนกระทรวงมหาดไทย ตรวจแก้ร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืนที่กรมร่างกฎหมาย ในเดือน ธันวาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการพิจารณาเรื่องเรียกที่ดินที่ตำบลถนนหลวงในกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้แก่ท่านเจ้าพระยาสุธรรมคืน พร้อมด้วยพระเทพวิฑูรและพระยามโหสภ ในเดือนมกราคม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนกระทรวงเรื่องพิจารณาตรวจแก้ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างที่บริเวณถูกไฟไหม้ที่ถนนเยาวราช ที่กรมร่างกฎหมาย
พ.ศ. 2475
ในเดือนมิถุนายน วันที่ 28 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ที่ประชุมสภาได้แต่งตั้งให้พระยามานวราชเสวีเป็นอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรคนหนึ่ง ในเดือนสิงหาคมวันที่ 12 รัฐบาลตั้งให้เป็นกรรมการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ในเดือนสิงหาคมเป็นอนุกรรมการจัดโครงการของประเทศ ในเดือนสิงหาคมได้เป็นกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในเดือนกันยายนวันที่ 1 รัฐบาลวางอัตราเงินเดือนใหม่ พระยามานวราชเสวี ถูกลดเงินเดือน 50.-บาท คงได้ 1,000.-บาท ในเดือนตุลาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นกรรมการอำนวยการกรมพัสดุแห่งชาติ ในเดือนธันวาคมวันที่ 29 นายกรัฐมนตรี ตั้งให้เป็นผู้ทำการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีกำหนดสองเดือน
พ.ศ. 2476
ในเดือนเมษายนวันที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นรัฐมนตรีในกระทรวงมหาดไทย ในเดือนพฤษภาคมวันที่ 17 เป็นกรรมการร่างประมวลวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นกรรมการร่างพระราชบัญญัติเทศบาลและเป็นกรรมการร่างระเบียบสั่งราชการไปตามหัวเมือง ในเดือนสิงหาคมได้รับคำสั่งให้ไปรักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นเวลาหนึ่งเดือน ในเดือนธันวาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรี และได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ทำการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหนึ่งเดือน
พ.ศ. 2477
ในเดือนกันยายนวันที่ 26 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง เงินเดือน 1,500.-บาท
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8)พ.ศ. 2477-2489
พ.ศ. 2478
เดือนกรกฎาคมวันที่ 31 กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นข้าราชการบำนาญ ได้รับพระราชทานบำนาญเดือนละ 593.-บาท เดือนสิงหาคมวันที่ 1 สภาผู้แทนราษฎรเลือก แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนสิงหาคมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นสมุหพระคลังข้างที่ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สั่งให้ตรวจงานบางเรื่องในพระคลังข้างที่แล้วรายงานถวาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังข้างที่ ขอรับใช้ไม่ขอรับเงินเดือนเป็นเวลา 6 เดือน ขอให้ตั้งกรรมการรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นประธานควบคุมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จัดระเบียบงาน จัดระเบียบบัญชีมีรายรับและรายจ่ายตามแบบสากล ได้ทำทุกอย่างที่สามารถจะทำได้ ไม่ให้ทรัพย์ของหลวงสิ้นสูญไป แล้วลาออก ได้รับพระราชทานหีบบุหรี่เงินมีพระปรมาภิไธยย่อ อ.ป.ร.ลงยาเป็นที่ระลึก และได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ของรัชกาลที่ 8 ชั้น 2 เป็นที่ระลึก
พ.ศ. 2479
สิงหาคมวันที่ 1 สภาผู้แทนราษฎรเลือก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่สิงหาคม พ.ศ. 2479 ไปจนถึง พ.ศ. 2486 คราวหนึ่ง อีกคราวหนึ่งเป็นประธานสภาตั้งแต่ 2487 ถึงพฤษภาคม 2489 มีการเลือกประธานสภาทุกปีได้รับเลือก 11 ครั้งรวมเวลาเป็นประธาน 10 ปี
พ.ศ. 2481
เดือนธันวาคมวันที่ 10 ได้รับพระราชทานตราปถมาภรณ์มงกุฎไทยจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่สภาผู้แทนราษฎร พระที่นั่งอนันตสมาคม มกราคมวันที่ 11 เป็นกรรมการ ก.พ. กรรมการ ก.พ. ตั้งให้เป็นประธานกรรมการสอบไล่นักเรียนคัดเลือกไปต่างประเทศ 5 ปี
พ.ศ. 2488
สภาผู้แทนราษฎรลงมติตั้งให้เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489
พ.ศ. 2489
เดือนพฤษภาคม เมื่ออยู่ในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ต่อพระหัตถ์พระมหาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เดือนมิถุนายน วันที่ 1 เป็นสมาชิกพฤฒสภา
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)
พ.ศ. 2489
เดือนมิถุนายนวันที่ 16 รัฐสภาเลือกให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในที่ประชุมสภา และในวันเดียวกันนั้นได้ลาออกจากสมาชิกพฤฒสภา เพื่อรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประธานรัฐสภาได้ออกประกาศตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เดือนมิถุนายนวันที่ 17 ได้ไปปฏิญาณในที่ประชุมรัฐสภา ตามความในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 แล้วเข้ารับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
พ.ศ. 2490
เดือนพฤศจิกายนวันที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งให้เป็นอภิรัฐมนตรีในตำแหน่งสำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2490
พ.ศ. 2492
เดือนมิถุนายนวันที่ 18 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นองคมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เป็นองคมนตรีตลอดมาจนถึงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2517
พ.ศ. 2499
เดือนพฤศจิกายนวันที่ 29 ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2516
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นรองประธานสมัชชาแห่งชาติดูแลควบคุมสมาชิกสมัชชา 2,347 คน เลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติที่สนามม้าราชตฤณมัยในวันที่ 19 ธันวาคม 2516 กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์เป็นประธาน
พ.ศ. 2517
เดือนตุลาคมวันที่ 5 พ้นจากตำแหน่งองคมนตรี รับราชการในพระราชสำนัก ในตอนหลังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นองคมนตรีต่อเนื่องมาถึง 29 ปี
พ.ศ. 2518
เดือนกรกฎาคมวันที่ 10 ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรนิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ยศ บรรดาศักดิ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) (พ.ศ. 2453-2468)
พ.ศ. 2460
ธันวาคม วันที่ 19 รองอำมาตย์เอก
ธันวาคม วันที่ 20 หลวงอินปัญญา
พ.ศ. 2460
กุมภาพันธ์ วันที่ 12 รองเสวกเอก
พ.ศ. 2461
ธันวาคม วันที่ 20 เสวกตรี
ธันวาคม วันที่ 30 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา
พ.ศ. 2461
กันยายน วันที่ 14 พระมานวราชเสวี
พ.ศ. 2462
ธันวาคม วันที่ 20 อำมาตย์โท
พ.ศ. 2463
พฤศจิกายน วันที่ 9 อำมาตย์เอก
ธันวาคม วันที่ 30 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2464
ธันวาคม วันที่ 30 พระยามานวราชเสวี
พ.ศ. 2465
พฤศจิกายน วันที่ 21 มหาอำมาตย์ตรี
ธันวาคม วันที่ 30 ตริตาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2466
พฤศจิกายน วันที่ 11 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
พ.ศ. 2467
มกราคม วันที่ 1 ทวิติยาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2468
พฤศจิกายน วันที่ 11 ทุติยจุลจอมเกล้า
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) (พ.ศ. 2468–2477)
พ.ศ. 2468
กุมภาพันธ์ เหรียญบรมราชาภิเษก (ทอง) รัชกาลที่ 7
พ.ศ. 2469
กุมภาพันธ์ วันที่ 25 เหรียญรัตนาภรณ์ ป.ป.ร. ชั้น 4
พ.ศ. 2473
พฤศจิกายน วันที่ 8 ทวิติยาภรณ์ ช้างเผือก
พ.ศ. 2475
เหรียญฉลองพระนคร (ทอง)
พ.ศ. 2476
เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้น 1
พ.ศ. 2477
เหรียญจักรพรรดิมาลา
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8)(พ.ศ. 2477-2489)
พ.ศ. 2475
เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
พ.ศ. 2480
พฤศจิกายน เหรียญรัตนาภรณ์ อ.ป.ร. ชั้น 2 รัชกาลที่ 8
พ.ศ. 2481
ธันวาคม วันที่ 10 ปถมาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2484
กันยายน วันที่ 20 มหาวชิรมงกุฎ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489
พ.ศ. 2493
เมษายน วันที่ 19 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2493
เมษายน วันที่ 26 ปฐมจุลจอมเกล้า
พ.ศ. 2493
เหรียญบรมราชาภิเษก (ทอง) รัชกาลที่ 9
พ.ศ. 2496
มกราคม วันที่ 20 เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 1 รัชกาลที่ 9
พ.ศ. 2501
พฤษภาคม วันที่ 21 เจ้าชายอักเซล ได้ทรงมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดันเนบรอก ชั้นที่ 1 ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงเดนมาร์กโปรดเกล้าฯ ให้นำมาพระราชทานที่สถานทูต เดนมาร์ก กรุงเทพฯ Grand Cross of Dannebrog
บั้นปลายชีวิต

พระยามานวราชเสวีทำงานอยู่จนอายุเก้าสิบกว่าโดยเป็นประธานกรรมการของบริษัท มูลนิธิ และสมาคมต่าง ๆ ประมาณสิบกว่าแห่ง เพิ่งมาลาออกเมื่อประมาณปีกว่าก่อนสิ้นชีวิตแสดงให้เห็นว่าสมอง กาย และใจ ของท่านยังอยู่ในสภาพดี ไม่เคยเจ็บป่วยถึงกับต้องนอนพัก ออกจากบ้านไปไหน ๆ หรือจะทำอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่ยอมให้ใครช่วยเหลือ จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2527 ท่านได้ตื่นขึ้นกลางดึก ลุกขึ้นจากเตียงนอนจะเข้าห้องน้ำตามปกติเป็นประจำพลาดจากเตียงรู้สึกเจ็บที่ชายโครงเล็กน้อย นายแพทย์ยาใจ ณ สงขลา จึงแนะนำให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ขณะประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานดอกไม้เยี่ยม ครั้นถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2527 เวลา 07.45 นาฬิกา พระยามานวราชเสวีได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุได้ 93 ปี 5 เดือน และเมื่อถึงกำหนดพระราชทานเพลิงศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลออกเมรุพระราชทานแล้วยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพพระยามานวราชเสวี ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสด้วย
พระยามานวราชเสวี (ปลอด) เกิดเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๓๓ ที่บ้านพระยา สุนทรานุรักษ์ (เนตร์) เป็นบุตรของพระอนันตสมบัติ (เอม) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลากับท่านเชื้อ ธิดาหลวงอุปการโกศากร (เวท วัชราภัย) และท่านปั้น ธิดาเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น)
เจ้าจอมกุหลาบในรัชกาลที่ ๔ พี่สาวของ ท่านปั้นได้ขอท่านเชื้อไปเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่วัยเยาว์ และได้เลี้ยงดูอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทำให้รู้จัก เจ้านายหลายพระองค์ เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต เจ้าจอมกุหลาบจึงได้กราบถวายบังคมลากลับไปอยู่กับเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ผู้เป็นบิดาที่สงขลา โดยได้พาท่านเชื้อไปด้วย ณ ที่นั้น ท่านเชื้อได้สมรสกับ พระอนันตสมบัติ (เอม) บุตรพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์)

พ.ศ. ๒๔๓๗ ท่านเชื้อได้พาบุตรชายทั้งสอง คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร) และ พระยา มานวราชเสวี (ปลอด) ซึ่งในขณะที่มีอายุเพียง ๙ ปี และ ๔ ปี ตามลำดับ ละจากเคหะสถานที่สงขลา กลับมายังกรุงเทพฯ และนำทรัพย์สินส่วนตัวที่ได้รับมรดกจากเจ้าจอมกุหลาบมาตั้งเคหะสถานใหม่ที่บ้านท่านปั้น ผู้เป็นมารดาที่ถนนสีลม

พ.ศ. ๒๔๔๓ ท่านเชื้อได้ส่งพระยามานวราชเสวี (ปลอด) เข้าเรียนที่โรงเรียนอัชสัมชัญ ตามอย่างเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร) แต่โดยที่เป็นลูกคนเล็กและไม่ปรารถนาจะให้จากไป จึงให้เป็นนักเรียน แบบเช้าไปเย็นกลับ ต่อมาได้รับความเมตตาจากเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อครั้งเป็นพระยา วิสูทธสุริยศักดิ์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการและอธิบดีกรมศึกษาธิการเป็นผู้ดูแลแนะแนวการศึกษา และให้ย้ายจากโรงเรียนอัสสัมชัญไปเข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นโรงเรียนชั้นประถม เรียนอยู่เพียง ๑ ปี ก็ให้ลาออกไปเข้าโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ มีนักเรียนจำนวน ๕๐ คน และมีครูฝรั่งที่ศึกษามาจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษถึง ๔ คน และครูไทยชั้นดีอีก ๖ คน ซึ่งเจ้าคุณวิสูทธเห็นว่าจะเป็นโอกาสได้รับการศึกษาและการอบรมที่ดีกว่า

เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี พระยามานวราชเสวี (ปลอด) สามารถสอบได้ทุนเล่าเรียนหลวงของกระทรวงธรรมการ เพื่อไปเรียนวิชาครู วิชาแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรรม อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วกลับมาสอนตามกระทรวงที่กำหนด แต่พระยามานวราชเสวี (ปลอด) กลับเลือกที่จะทำงานที่กระทรวงยุติธรรมอยู่ก่อน เพื่อเรียนวิชากฎหมายและมุ่งมั่นจะสอบแข่งขันไปเรียนต่างประเทศโดยทุนของกระทรวงยุติธรรมแทน

พระยามานวราชเสวี (ปลอด) จึงเริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นล่ามแปลภาษาอังกฤษ ที่กระทรวงยุติธรรม ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และภายใน ๔ ปีต่อมาก็สามารถสอบกฎหมายไทยได้เนติบัณฑิต และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๖

พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรมเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียน Inner Temple จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้ปริญญา Barrister-at-Law และฝึกงานในสำนักงานกฎหมายของ Sir Huge Fraser นักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงของอังกฤษ

พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้กลับมารับราชการที่กระทรวงยุติธรรมในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยสมุหนิติศาสตร์ กระทรวงวัง และใน พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระมานวราชเสวี เป็นกรรมการสอบความรู้กฎหมายชั้นเนติบัณฑิต เป็นกรรมการที่ปรึกษาเนติบัณฑิตสภา ต่อมายังได้เป็นอาจารยที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และเป็นกรรมการที่ปรึกษาสภากาชาด พ.ศ. ๒๔๖๔

ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยามานวราชเสวี และในปีต่อๆ มาได้เป็น ผู้บังคับการโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลโบริสภาและศาลจังหวัดเขตพระนคร ตามลำดับ

ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศกรุงเทพฯ อธิบดี กรมอัยการ และเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๗๐) และภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอนุกรรมการสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. ๒๔๗๖) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. ๒๔๗๗)

ในสมัยรัชกาลที่ ๘ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานสภา ผู้แทนราษฎร (พ.ศ. ๒๔๗๙-๒๔๘๖ และ ๒๔๘๗-๒๔๘๙) เป็นสมุหพระคลังข้างที่ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

พ.ศ. ๒๔๘๙ ในรัชกาลปัจจุบัน ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี (พ.ศ. ๒๔๙๒ ? ๒๕๑๗)

ในด้านครอบครัว พระยามานวราชเสวี สมรสกับ ท่านผู้หญิงศรี ลพานุกรม ธิดาของนายเจริญ ลพานุกรม กับคุณเนียร (โปษยานนท์) มีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือ ศ.วิรัช ณ สงขลา สมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงวุฒิเฉลิม (วุฒิชัย) และมีบุตร ๒ คน คือ (๑) นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา และ (๒) นายณัฐญาดา ณ สงขลา

ในด้านสังคมสงเคราะห์ พระยามานวราชเสวี (ปลอด) เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ นายกสมาคมนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย กรรมการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย กรรมการสภากาชาดไทย และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้สร้างตึกรักษาคนไข้หลังหนึ่ง ให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมเครื่องใช้และของอื่นๆ ตึกนี้มีชื่อว่า พระยามานวราชเสวีและท่านผู้หญิง เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้สร้าง อีกทั้งยังได้ตั้งกองทุนรักษาคนเจ็บไข้ ในโรงพยาบาล ๑ ทุน รวมทั้งกองทุนนิสิตแพทย์เรียนดีแต่ยากจน และกองทุนเพิ่มความรู้ในต่างประเทศแก่แพทย์และเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์อย่างยั่งยืนในระยะยาว

พระยามานวราชเสวี (ปลอด) ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ สิริอายุรวม ๙๓ ปี ๗ เดือน