นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง

พลเอกหลวงสุทธิสารรณกร


พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (ชื่อเดิม สุทธิ์ สุขะวาที)
 
เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2444 ที่ตำบลเสาชิงช้า อำเภอสำราญราษฎร์ จังหวัดพระนคร
บิดาชื่อ หลวงเพราะสำเนียง (ชื่อเดิม ศุข ศุขวาที) มารดาชื่อ คุณแม่จีบ
สถานภาพสมรส สมรสกับ คุณหญิง ทิพย์ สุทธิสารรณกร
การศึกษา สำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารบก ในปี 2465                                                            ถึงแก่อสัญกรรม ขณะดำรงตำแหน่งประธานร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อ 17 เมษายน 2511
บรรดาศักดิ์
18 พฤษภาคม 2475 หลวงสุทธิสารรณกร
3 มิถุนายน 2473 ขุนสุทธิสารรณกร
ตำแหน่งสำคัญทางทหาร
1 มกราคม 2503 รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรักษาราชการ รองผู้บัญชาการทหารบก
16 กันยายน 2497 รองผู้บัญชาการทหารบก
20 พฤษภาคม 2497 ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
4 มิถุนายน 2493 เสนาธิการทหารบก
9 ตุลาคม 2491 รองเสนาธิการทหารบกและรักษาราชการผู้บัญชาการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
14 กุมภาพันธ์ 2491 เจ้ากรมการรักษาดินแดน
28 มกราคม 2491 ประจำกรมเสนาธิการทหารบก
1 มกราคม 2489 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 2
29 พฤษภาคม 2488 ประจำกรมเสนาธิการทหารบก
31 สิงหาคม 2487 ผู้บัญชาการกองพลที่ 4 ตามคำสั่งกรมบัญชาการกองทัพใหญ่
8 เมษายน 2483 เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 4
1 สิงหาคม 2475 ประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก
1 พฤษภาคม 2470 ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์
1 พฤษภาคม 2465 ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4
ตำแหน่งนายทหารพิเศษ
29 พฤศจิกายน 2498 นายทหารพิเศษประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์
3 พฤษภาคม 2494 ราชองครักษ์พิเศษ
24 พฤศจิกายน 2487 ราชองครักษ์เวร
ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง
10 เมษายน 2495 เป็นกรรมาธิการการทหาร ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2499 พิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2495
5 กรกฎาคม 2499 เป็นกรรมาธิการการทหาร ถึงวันที่ 16 กันยายน 2500
30 พฤศจิกายน 2494 - 18 กันยายน 2500 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท 2
20 กันยายน 2500 - 14 ธันวาคม 2500 ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
18 กันยายน 2500 - 20 ตุลาคม 2501 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท 2
3 กุมภาพันธ์ 2502 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
6 กุมภาพันธ์ 2502 - 17 เมษายน 2511 ประธานรัฐสภา ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
กุมภาพันธ์ 2502 เป็นมนตรีสหภาพรัฐสภา
19 กุมภาพันธ์ 2502 เป็นกรรมาธิการการทหาร ถึงวันที่ 7 กันยายน 2502 พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2502
26 สิงหาคม 2502 - 4 กันยายน 2502 เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนหน่วยรัฐสภาไทยไปประชุมสหภาพรัฐสภา ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์
25 สิงหาคม 2506 เป็นหัวหน้าคณะไปเยือนนิวซีแลนด์ ตามคำเชิญของรัฐบาลนิวซีแลนด์ ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์
7 กันยายน 17 กันยายน 2508 เป็นหัวหน้าหน่วยรัฐสภาไทย ไปประชุมสหภาพ รัฐสภา ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา
28 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2510 เป็นประธานที่ประชุมในการประชุม สหภาพสมาชิกรัฐสภาอาเซีย ครั้งที่ 3 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
28 พฤศจิกายน 2510 เป็นประธานสหภาพสมาชิกรัฐสภาอาเซีย
3 กุมภาพันธ์ 2511 - 17 เมษายน 2511 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา
20 กันยายน 2500 - 14 ธันวาคม 2500
ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
6 กุมภาพันธ์ 2502 - 17 เมษายน 2511
เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ (ไทย)
15 มิถุนายน 2505 เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 2
5 พฤษภาคม 2505 ปฐมจุลจอมเกล้า
5 พฤษภาคม 2502 ทติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
5 ธันวาคม 2499 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
7 มีนาคม 2498 เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ 3
5 ธันวาคม 2497 มหาวชิรมงกุฎ
5 ธันวาคม 2495 ประถมาภรณ์ช้างเผือก
5 กุมภาพันธ์ 2486 เหรียญชัยสมรภูมิ (สงครามมหาเอเซียบูรพา)
การดำรงตำแหน่งและผลการปฏิบัติราชการสำคัญ 

พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร) สำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2465 และได้รับพระราชทานยศร้อยตรีในวันที่ 30 ธันวาคม 2465 นับเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในยุคโรงเรียนนายร้อยทหารบกอีกท่านหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของนักเรียน นายร้อยรุ่นหลัง ๆ และเป็นแบบอย่างที่ดีงามมาโดยตลอด มีประวัติการดำรงตำแหน่งและมีผลการปฏิบัติราชการที่สำคัญ ดังนี้
ร้อยตรี สุทธิ์ รับราชการประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 มาก่อนรับพระราชทานยศ คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2465 ต่อมา ได้ย้ายไปประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ และได้รับพระราชทานยศร้อยโท ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2470 จากการรับราชการด้วยความขยันหมั่นเพียรจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนสุทธิสารรณกร” ในวันที่ 3 มิถุนายน 2473 และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสุทธสารณกร” วันที่ 18 พฤษภาคม 2475 ซี่งเป็นปีที่ได้รับพระราชทานยศ ร้อยเอก (24 เมษายน 2475) และย้ายไปประจำกรมยุทธศึกษาทหารบกจนรับพระราชทานยศ พันตรี ในวันที่ 1 เมษายน 2478 และพันโท ในวันที่ 1 เมษายน 2483 ตามลำดับ 
ซึ่งขณะดำรงตำแหน่งพันโทได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 4 และได้มีโอกาสเข้าร่วมในสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2483 ถึง 26 มีนาคม 2484 และได้รับพระราชทานยศ พันเอก ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2485 เมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพาขึ้น พันเอก หลวงสุทธิสารรณกรได้เข้าปฏิบัติราชการสนามอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2489 และในการปฏิบัติราชการสงครามครั้งนี้ พันเอก หลวงสุทธิสารรณกรได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 4 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2487 ตามคำสั่งกรมบัญชาการกองทัพใหญ่ และได้ประจำกรมเสนาธิการทหารบกในปีต่อมาหลังจากได้รับพระราชทานยศ พลตรี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2488
เมื่อจบภารกิจจากราชการสนาม พลตรี หลวงสุทธิสารรณกร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 2 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2489 เป็นเจ้ากรมรักษาดินแดน ในต้นปี 2491 และเป็นเสนาธิการทหารบก เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2493 ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2494 ได้รับพระราชทานยศพลโท และยังคงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2497 จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และได้เป็นรองผู้บัญชาการทหารบกในปีเดียวกัน
พลโท หลวงสุทธิสารรณกรได้รับพระราชทานยศสูงสุดคือ เป็นพลเอก เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2498 และจากการที่ได้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2503 จึงได้รับพระราชทานยศ พลเรือเอก และพลอากาศเอก เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2505 และได้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ(กรป.กลาง)
ผลงานด้านนิติบัญญัติ

ในช่วงที่พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร มีการตราพระราชบัญญัติประมาณ 480 ฉบับ เช่น
1. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502
2. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2503
3. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503
4. พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดสระบุรีและจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2505
5. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2505
6. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2506
7. พระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาด พ.ศ. 2507
8. พระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488 พ.ศ. 2510
9. พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2511
10. พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2511
นอกจากนี้ ท่านยังได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนหน่วยรัฐสภาไทยไปประชุมที่ต่างประเทศ อาทิ ในปี 2502 ไปประชุมสหภาพรัฐสภา ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ปี 2506 ไปเยือนประเทศนิวซีแลนด์ ณ กรุงเวลลิงตัน ปี 2508 ไปประชุมสหภาพรัฐสภา ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา และในปี 2510 ได้เป็นประธานในการประชุมสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย ครั้งที่ 3 ณ กรุงเทพฯ พร้อมกับได้รับเลือกให้เป็นประธานสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียในโอกาสเดียวกันด้วย
จากประวัติการดำรงตำแหน่งและผลการปฏิบัติราชการที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมือง พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ อดทน ขยันหมั่นเพียร และซื่อตรง จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุดยิ่ง สมควรได้รับการยกย่องเชิดชู และนำเกียรติประวัติจารึกไว้ให้ปรากฏ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีที่ควรยึดถือปฏิบัติสืบไป