นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง

นายมารุต บุนนาค


ศาสตราจารย์พิเศษ มารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีหลายกระทรวง ปัจจุบันวางมือทางการเมือง แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาของ พรรคประชาธิปัตย์

ประวัติ

ศ. (พิเศษ) มารุต บุนนาค เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2467[1] เป็นบุตรของ พระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) กับนางสาวผ่องศรี เวภาระธิดาขุนหลวงพระยาไกรสีห์ (เปล่ง เวภาระ) กับคุณหญิงทองคำ [2] เรียนมัธยมที่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ (DSA57) และจบการศึกษากฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2490 ในสมัยที่มหาวิทยาลัยยังใช้ชื่อว่า " มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง " และได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม , ปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ ว.ป.อ.วุฒิบัตรกิตติมศักดิ์ วิทยาลัยการทัพบก

ชีวิตส่วนตัว ศ.(พิเศษ) มารุต บุนนาค สมรสกับ คุณหญิงพันทิพา บุนนาค (สกุลเดิม "พันธุ์มณี") มีธิดาคือ นางมฤทุ บุนนาค มอริ เจ้าหน้าที่ระดับสูงใน องค์การสหประชาชาติ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยที่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีบุตรคือ นายรุจิระ บุนนาค สำเร็จนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทยสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สำเร็จปริญญาโทกฎหมายระหว่างประเทศ 2 ปริญญา ที่มหาวิทยาลัยทูเรนและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดูแลสำนักงานต่างประเทศ

ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2519 และปี พ.ศ. 2521 และปัจจุบัน เป็นประธานร้านธรรมศาสตร์กาชาดและเป็นอุปนายกสมาคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบัน เป็นกรรมการของสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522พ.ศ. 2526

การเมือง

มีประสบการณ์ทำงานเป็นทนายความที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก่อน ก่อนที่จะเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี พ.ศ. 2518หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ต่อมาจึงได้เข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์และลงเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร เขต 2 คือ เขตพญาไทและเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2522 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 ศ. (พิเศษ) มารุต ได้ลงเลือกตั้งอีกครั้ง คราวนี้ประสบความสำเร็จได้รับเลือกตั้ง และได้เป็น ส.ส. ในเขตกรุงเทพมหานคร นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์สมัย พ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นหัวหน้าพรรค แม้จะไม่ได้รับเลือกตั้งก็ตาม และดำรงตำแหน่งมากมาย ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2524 - พ.ศ. 2526 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2526 – พ.ศ. 2529 และ พ.ศ. 2532 - พ.ศ. 2533 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2529 – พ.ศ. 2531 ประธานรัฐสภา ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และประธานสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2538 และทำหน้าที่เป็นประธานสภาชั่วคราว ในการคัดเลือกประธานสภา หลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 จากฐานะเป็น ส.ส.ที่อาวุโสที่สุดของสภา

ปัจจุบัน ประกาศวางมือจากการเมืองแล้วเมื่อกลางปี พ.ศ. 2549 มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของพรรคประชาธิปัตย์ ศ. (พิเศษ) มารุต บุนนาค มีสำนักงานทนายความของตนเอง ชื่อ สำนักงานทนายความมารุต – รุจิระ

ที่มา : วิกิพีเดีย