นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง

ศ.ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน


ประวัติ ศาสตราจารย์ ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน

        ศ.ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในด้านการศึกษา ด้านธุรกิจ ด้านราชการ และด้านสมาคมวิชาการ โดย เป็นบุตรพระยานิติศาสตรไพศาลย์ (วัน จามรมาน) ผู้เป็นอดีตอธิบดีกรมพระอาลักษณ์ อดีตรองราชเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรักษาการนายกรัฐมนตรีกับตำแหน่งที่นายกรัฐมนตรีดำรงอยู่ทั้งหมด   ระหว่างพระยาพหลพลพยุหเสนาลาป่วยประมาณ 6 เดือน รวมทั้งตำแหน่งประธาน คณะราษฎร์

        ด้านการศึกษา ศ.ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน จบโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ รุ่นเดียวกับสมบัติ เมทะนี จบเตรียมอุดมศึกษารุ่นที่ 16     จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย     ได้ทุนเรียนและจบมหาบัณฑิตด้านวิศวกรรมชลศาสตร์ สอบได้เป็นที่ 1 ของรุ่นแรกของเอไอที     ได้ทุนไปเรียนและใช้เวลาเพียง 2 ปีครึ่ง ก็เป็นคนไทยคนแรกที่จบปริญญาเอกด้านคอมพิวเตอร์   โดยจบจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งจอร์เจีย   สหรัฐอเมริกา   เมื่อ พ.ศ. 2507 แล้วไปเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ แคนาดา เป็นรองศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา แคนาดา ต่อมาเป็นผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยมิสซูรี่ เมืองโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เป็นศาสตราจารย์เต็มขั้น (Full Professor) คนไทยคนแรกในสหรัฐ โดยเป็นที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐ นิวยอร์ก หลังจากนั้นกลับประเทศไทยไปเป็นศาสตราจารย์สถิติประยุกต์   หัวหน้าวิชาคอมพิวเตอร์ และนายกสโมสรข้าราชการที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นศาสตราจารย์ระดับ 11 และประธานสภาคณาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทั้งนี้ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาแล้วเปลี่ยนเป็นรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยอินเทอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ช คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสนเทศ     ประธานหลักสูตรปริญญาเอกด้านคอมพิวเตอร์     ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการและประธานผู้บริหาร วิทยาลัยการศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ     เคยเป็นประธานโครงการวิจัยที่ได้รับเงินสนับสนุน จากสภาวิจัยแห่งชาติแคนาดา มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติอเมริกัน กองทัพอเมริกัน สภาวิจัยแห่งชาติไทย มูลนิธิฟอร์ด ยูเนสโก USAID, IDRC, UNCTC, IFIP และ ICID เป็นต้น เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เคยเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพา เคยเป็นกรรมการสภาสถาบันเทคโนโลยี แห่งเอเชีย เคยเป็นประธานกรรมการแต่งตำราคอมพิวเตอร์กระทรวงศึกษาธิการ       เคยเป็นประธานกรรมการแต่งตำราคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เคยเป็นประธาน อกม. หลายชุด พิจารณาตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ สถิติ คณิตศาสตร์ และบัญชี เป็นต้น เคยเป็นประธานกรรมการเปิดดำเนินการสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทบวงมหาวิทยาลัย เคยเป็นประธานกรรมการหลักสูตรคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยของรัฐ ทบวงมหาวิทยาลัย เป็นต้น

        ด้านธุรกิจ ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน เคยเป็นประธานกรรมการบริษัทคอมพิวเตอร์และสหวิทยาการจำกัด ให้คำปรึกษาแก่หลายหน่วยงานอาทิ บริษัท บูช อเลน แอนด์ ฮามิลตัน (บาฮินส์) ธนาคาร ไทยพาณิชย์ บริษัท นอร์ธสตาร์ และบริษัทซันโย เป็นต้น เป็นประธานกรรมการกลุ่มที่ปรึกษา เอ เอส เค (อนุช ศรีศักดิ์ และ กัลยา) ให้คำปรึกษาลูกค้าธนาคารกรุงเทพ เป็นประธานกรรมการบริษัทอินเตอร์ เนชันแนล เทคโนโลยี ทรานสเฟออิงค์ จำกัด เป็นที่ปรึกษา ไอ บี ไอ (International Bureau for Informatics) ที่กรุงโรม   เป็นที่ปรึกษาสำนักปลัดบัญชีทหาร   กองบัญชาการทหารสูงสุด      เป็นผู้แทนประเทศไทยในอีอาเซียน (e-ASEAN)      เป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทเคเอสซี   ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เชิงพาณิชย์รายแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเคยได้รับการตีราคาประมาณ 40,000 ล้านบาท รัฐบาลไทยส่ง ศ. ศรีศักดิ์ ไปได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาธุรกิจอีอาเซียน (Chairman of e-ASEAN Business Council) เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธานสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ รับทำวิจัยเชิงธุรกิจและทำวิจัย สาธารณประโยชน์ และเป็นประธานกลุ่มบริษัทชาร์มมิ่งมอลล์ ซึ่งรวมทั้งบริษัท เอแบค-เคเอสซี อินเตอร์เน็ต เอ็ดดูเคชั่น จำกัด เป็นต้น

        ด้านราชการ ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน เป็นข้าราชการระดับสูงสุด คือ ระดับ 11 (ระดับเดียวกับปลัดกระทรวง ระดับเดียวกับจอมพลและสูงกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด) และอยู่ในระดับ 11 กว่า 10 ปี เป็นประธานคณะทำงานคอมพิวเตอร์หลายคณะในสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการจัดการใช้อินเทอร์เน็ตรายงานสภาพการจราจร สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการข้าราชการพลเรือน ในมหาวิทยาลัย (กม.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอยู่ 2 สมัย เป็นผู้เชี่ยวชาญไอทีในคณะกรรมการปฏิรูปและบูรณาการระบบทะเบียนแห่งชาติซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน     เป็นหัวหน้าคณะทำงานปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ในส่วนที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นรองประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์แห่งสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานอนุกรรมการ 5 ชุด ด้านฝีมือแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการโครงการนำร่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย เป็นประธานกรรมการออกข้อกำหนดระบบจดทะเบียนพาณิชย์ทางอินเทอร์เน็ต      เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์ระดับชาติ      เป็นประธานอนุกรรมการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์      เป็นประธานกรรมการชมรมผู้พิพากษาสมทบศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง      เป็นประธานคณะทำงานด้านซอฟต์แวร์และบุคลากรสารสนเทศแห่งสภาการศึกษาแห่งชาติ เคยเป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางส่งเสริมและพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ทบวงมหาวิทยาลัย และกรรมการอื่นๆ อีกมากมาย

        ด้านสมาคมวิชาการ ศ. ศรีศักดิ์ เป็นนายกก่อตั้งสาขาประเทศไทยของสมาคมคอมพิวเตอร์เอซีเอ็ม ซึ่งเป็นสมาคมวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เก่าที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลก    เป็นนายกก่อตั้งสาขาประเทศไทยของสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสมาคมวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่เก่าที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลก เป็นนายกสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2543-2545 พ.ศ. 2545-2547 พ.ศ. 2549-2551 และ พ.ศ. 2551-2553 เป็นนายกสมาคมธุรกิจอินเทอร์เน็ตไทย เป็นนายกสมาคมการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ได้รับเลือกตั้งเป็นหนึ่งในห้ากรรมการบริหารผู้ดูแลอินเทอร์เน็ตในเอเชียแฟซิฟิก (APNIC)            เป็นนายกก่อตั้งสมาคมอินเทอร์เน็ตนานาชาติ สาขาประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 15 กรรมการบริหารสมาคมอินเทอร์เน็ตนานาชาติ เป็นหนึ่งใน 10 กรรมการบริหารสมาพันธ์สมาคมประมวลผลนานาชาติ (IFIP) และเป็นนายกสมาพันธ์สมาคมคอมพิวเตอร์เอเชียใต้ 2550-2551 เป็นประธานจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติหลายครั้ง และเป็นประธานมูลนิธิ ศ.ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน

        ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน ได้รับขนานนามว่าเป็น บุรุษคอมพิวเตอร์แห่งเอเซียพ.ศ. 2524 และ มีภาพลงหน้าปกวารสารคอมพิวเตอร์เอเชียตีพิมพ์ในฮ่องกง     ได้รับขนานนามว่าเป็น    “บิดาอินเทอร์เน็ตไทย”    โดยบางกอกโพสท์ และสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ        ได้รับขนานนามว่า    “บุรุษแห่งปี”    โดยนิตยสารจีเอ็ม พ.ศ. 2539 และ พ.ศ. 2540 เป็น บุคคลแห่งปีโดยนิตยสารอีคอนนิวส์      เป็น    “บุรุษแห่งปี พ.ศ. 2547”     โดยสถาบันประวัติบุคคลอเมริกัน เป็น บิดาอีเลิร์นนิ่งไทยโดยศูนย์ชีวประวัตินานาชาติ แห่งเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ. 2549      และเป็นราชบัณฑิตแห่งบริเทนใหญ่ โดยมี ใบประกาศลงพระนามโดยดยุคแห่งเค้นท์ ซึ่งทรงเป็นพระอนุชาสมเด็จพระราชินีอังกฤษ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญประกาศเกียรติคุณให้โดยสร้างอาคาร ศรีศักดิ์ จามรมาน สถานเทคโนโลยีสารสนเทศ” (www.scBuilding.info) มูลค่ากว่า 650 ล้านบาท และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประกาศให้เป็น ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการศึกษาไอที

        ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น สายสะพาย คือ    ประถมาภรณ์มงกุฏไทย พ.ศ. 2530    ประถมาภรณ์ช้างเผือก พ.ศ. 2533    มหาวชิรมงกฎ พ.ศ. 2536 และ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก พ.ศ. 2539

        ศ. ศรีศักดิ์ จามรมาน ได้เขียนบทความและหนังสือรวมกว่า 1,700 เรื่อง บรรยายในประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศ เป็นผู้ดำเนินรายการวิทยุ อินเทอร์เน็ตไอทีกับศรีศักดิ์ จามรมาน” AM819 ทุกวันอาทิตย์ 11.00-12.00 น. และรายการโทรทัศน์ ข่าวเด็ดและเกร็ดความรู้ด้านไอที กับ ศรีศักดิ์ จามรมานยูบีซี ช่อง DLTV9 ช่อง DSTV89 หรือ CATV56 ทุกวันอาทิตย์เวลา 12.00-13.00 น. และเป็นประธานบรรณาธิการ International Journal of the Computer, the Internet and Management