นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง

โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ)


โชติ แพร่พันธุ์
หรือเจ้าของนามปากกา “ยาขอบ” ที่มีผลงานเด่นคือ ผู้ชนะสิบทิศ และอีกหลากหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นผลงานเรื่องสั้นชื่อ “ เพื่อนแพง” วรรณกรรมเรื่องยาวอย่าง สามก๊ก (ฉบับวณิพก) ความเรียงปกิณกะเรื่องสินในหมึก เป็นต้น

เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 เป็นบุตรของเจ้าอินแปง เทพวงศ์ เชื้อสายเจ้าเมืองแพร่ มารดาชื่อจ้อย เป็นต้นห้องของหม่อมเฉื่อยในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โชติ แพร่พันธุ์ เข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ได้รับการอุปถัมภ์จากพระยาพิทักษ์ภูบาลอยู่ระยะหนึ่ง กระทั่งถึงยุคเศรษฐกิจตกต่า โชติต้องกลับมาเร่ร่อนอีกครั้งหนึ่ง จนมีโอกาสได้เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ เริ่มจากสยามรีวิว และธงไทย
ในปี พ.ศ. 2472 กุหลาบ สายประดิษฐ์ จัดตั้งคณะสุภาพบุรุษ ออกหนังสือสุภาพบุรุษ รายปักษ์ คราวหนึ่ง อบ ไชยวสุ ซึ่งเป็นนักเขียนตลกประจำฉบับ ส่งต้นฉบับไม่ทัน กุหลาบ จึงขอให้โชติเขียนแทน โดยตั้งนามปากกาให้ว่า ยาขอบ เลียนแบบจากนักเขียนเรื่องตลกชาวอังกฤษ ชื่อ เจ.ดับบลิว. ยาค็อบ ทำให้เกิดงานประพันธ์ชิ้นแรกในนาม ยาขอบ ชื่อ จดหมายเจ้าแก้ว พ.ศ. 2474 โชติ แพร่พันธุ์ ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สุริยารายวัน และเริ่มเขียนนิยายเรื่อง ยอดขุนพล แต่หนังสือพิมพ์สุริยามีอายุไม่ยืน เมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไปทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2475 โชติจึงเขียนเรื่อง ยอดขุนพล ต่อ โดยมาลัย ชูพินิจ เปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น ผู้ชนะสิบทิศ โดยผู้ชนะสิบทิศเขียนมาจากพงศาวดารที่โชติมีโอกาสได้อ่านเพียง 8 บรรทัดเท่านั้น แต่ความเป็นอัจฉริยะทางวรรณกรรมกลับถ่ายทอดได้อย่างหลากอรรถรส มากถึง 8 เล่ม
มีบุตรชายคนเดียวคือ นายมานะ แพร่พันธุ์ (นักเขียน, นักหนังสือพิมพ์ผู้ทรงคุณวุฒิของเมืองไทย)
โชติ แพร่พันธุ์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2499 ขณะอายุ 48 ปี ด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง และเบาหวาน
ผลงาน

นวนิยาย : ผู้ชนะสิบทิศ พรานสวาท
รวมเรื่องสั้น : อารมณ์ คามวาลี รอยโครอยเกวียน รักแท้ หลังฉากผู้ชาย เพื่อนแพง หล่อนชั่วเพราะชาย เมียน้อย ผู้หญิงมุมมืด ฯลฯ
เรื่องแปล : สนมพระจอมเกล้า ขวัญใจจอมขวาน (ร่วมกับคนอื่น) บุปผาในกุณฑีทอง ฯลฯ
สารคดี : สินในหมึก เรื่องไม่เป็นเรื่อง หนุมานลูกใคร ที่ว่าโป๊โป๊นั้นประการใด
ผลงานเรียบเรียง : มหาภาระตะ สามก๊กฉบับวณิพก
ร้อยกรอง : อะไรเอ่ย ยาขอบสอนตน
คู่สมรส: จรัส เพ็ญภาคกุล
สงวนศรี (ไม่ทราบนามสกุล)
ชลูด (ไม่ทราบนามสกุล) 
ประกายศรี ศรุตานนท์
  เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 ที่บ้านคุณนายจันทร์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงเลี้ยงเด็กของ พระวิมาดาเธอพระองค์เต้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ ที่ยศเส กรุงเทพฯ โดยบิดาของยาขอบ คือ เจ้าอินทร์แปลง ผู้มีเชื้อสายเจ้าเมืองแพร่ สกุลเทพวงศ์ ซึ่งเคยไปอาศัยอยู่ใน วังดำรงสถิต ของสมเด็จพระบรม เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มารดาของยาขอบชื่อจ้อย เป็นต้นห้องของหม่อมเฉื่อย (พระมาดารของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย  ดิศกุล) โดยลักลอบได้เสียกันจนตั้งครรภ์  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาและมารดาของยาขอบนั้นไม่ได้แต่งงานกันตามประเพณี เมื่อเจ้าอินทร์แปลงสำเร็จการศึกษาก็ได้เดินทางกลับเมืองแพร่ ต่อมาได้สมรสกับเจ้าหญิงเทพเกษร ธิดาแห่งเจ้าเมืองน่าน ส่วนจ้อยเกรงอาญาวัง  จึงหนีออกไปคลอดบุตรที่บ้านคุณนายจันทร์และของร้องให้ปิดเป็นความลับ  แม้เจ้าอินทร์แปลงได้เคยสั่งว่าถ้าลูกเป็นชายให้ชื่อ “อินทรเดช”  แต่ด้วยทิฐิที่เกลียดเจ้าอินทร์แปลงจึงตั้งชื่อว่า  “โชติ”  เมื่อจะเข้าโรงเรียนนั้นจึงจำเป็นที่ยาขอบต้องมีนามสกุล มารดาจึงได้ขอให้คุณนายจันทร์ พาบุตรชายไปยังวัง ดำรงสถิต เพื่อขอประทานนามสกุลจาก สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้ประทานนามสกุลแก่ยาขอบ ว่า "แพร่พันธุ์"  แม้ต่อมา เจ้าอินทร์แปลง ผู้เป็นบิดาพยายามที่จะตามหายาขอบเพียงใด มารดาของยาขอบก็กีดกันไม่ให้พบ และไม่ยอมที่จะรับความช่วยเหลือใดๆ จนแม้เมื่อเจ้าอินทร์แปลงสิ้นชีวิตลง มารดาก็ไม่ยอมให้ยาขอบได้ไป ร่วมฌาปนกิจบิดา


            เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ยาขอบมีอายุได้ ๖ขวบ จึงเป็นวัยที่ต้องเข้าศึกษา จึงได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์  ในบั้นปลายชีวิตของมารดา  ได้เข้าไปอยู่ในอุปการะของหม่อมเจ้าจุลดิศ  ดิศกุล ณ วังสำเพ็ง  ซึ่งสนพระทัยในกีฬาขี่ม้า  และทรงมีคอกม้า  จึงทำให้โชติ  แพร่พันธุ์  นั้นได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงม้าและขี่ม้ามาตั้งแต่เด็ก เมื่อมารดามีสุขภาพเสื่อมโทรมมากและเริ่มป่วย  จึงได้ไปอยู่ในอุปการะของพันตำรวจเอกพระยาบริหารนครินทร์ (เติม  จามรกุล)  หลังจากนั้นมารดาก็เสียชีวิต พ.ศ.๒๔๖๔  ด้วยที่ยาขอบเป็นเด็กที่ซนและดื้อมาก จึงโดนเฆี่ยนอยู่เสมอ และที่โรงเรียนเทศิรินทร์ ยาขอบยังเคยสอบตกซ้ำชั้น และเรียนช้ากว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน พ.ศ. ๒๔๖๕ ขณะที่ยาขอบศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีท ี่๔ ยาขอบได้เกิดการโต้เถียงอย่างรุนแรงกับ อาจารย์ประจำชั้นคือ ครูถนิม เลาหะวิไล อย่างรุนแรง โดยครูถนิม ได้ถามว่า ธรรมะคืออะไร ยาขอบได้ตอบคำถามครูว่า ธรรมะคือคุณากร! เมื่อยาขอบถูกลงโทษจึงได้คิดถือโกรธแค้นเคือง วันต่อมาจึง ปลดหมวกของครูลงพื้น แล้วได้เหยียบย่ำสมใจ จึงเป็นเหตุที่ทำให้ยาขอบต้องออกจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ตั้งแต่นั้นมา

            ยาขอบ ได้หนีออกจากบ้านของพระยาบริหารนครินทร์ ในวันที่ได้รับเงินค่าเล่าเรียน ๔๐บาท และได้ใช้เดินทางเร่ร่อนไปเรื่อยๆ จนเงินหมดจึงเริ่มทำงานชิ้นแรก คือ รับจ้างจูงวัวจากหัวลำโพงไปถนนตก ได้ค่าแรง ตัวละสลึง แต่ทำได้ไม่กี่เที่ยวก็เลิก จากนั้นไปอาศัยอยู่กับอาแท้ๆ แถวศาลาแดง ชื่อจีบ มีาชีพเป็นเจ้าสำนักทรงเจ้าเข้าผี โดยยาขอบมีกิจวัตรประจำวันคืออ่านหนังสือประโลมโลกย์ให้เขาฟัง และเคยถูกบังคับให้เป็นคนทรงด้วย แต่ด้วยที่ยาขอบเห็นเป็นอาชีพหลอกลวง จึงได้หนีออกมาไปนอนเร่ร่อนตามคอกม้ากับบรรดาเด็กขี่ม้าที่ชอบใจกัน  ต่อมาได้มีโอกาสดูแล ฝึกซ้อมจนสามารถขี่ม้าแข่งได้ด้วยตนเอง เวลาที่ว่างจากการซ้อมแข่งม้า ก็ไปวิ่งวัว วิ่งรอก ว่าวจุฬากลางทุ่งศาลาแดงและวนเวียนไปเล่นฟุตบอลกับเพื่อนๆ หลังโรงเรียนเลิกแล้วที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ พอ เล่นเสร็จก็กลับไปสู่คอกม้า ต่อมา ม.ล.ต๋อย ม.ล.ต้อย และ ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้เคยได้ร่วมชั้นเรียนเดียวกัน จึงขออนุญาตบิดา มารดา ให้นายโชติ แพร่พันธุ์ ยาขอบ ในวัย ๑๓ปีกว่าๆ เข้าไปอยู่ที่บ้านด้วย
            เมื่อชีวิตที่เคยชินกับการโลดโผนสนุกสนานไปตามอารมณ์นั้นค้องมาอยู่ในกรอบบ้านที่เป็นระเบียบ ชีวิตสงบเงียบ ยาขอบจึงเริ่มเบื่อหน่าย จึงขอออกจากบ้านหลังนั้นมา จนวันหนึ่ง เดินอยู่ที่ถนนเจริญกรุงตอนล่าง ถึง ริมฝั่งแม่น้ำ ยาขอบได้ยินคนแจวเรือจ้างพูดถึงเรื่องฝากตัวบุตรไปไว้ในอุปการะของพระยาพิทักษ์ภูบาล ซึ่งกำลังจะตามเสด็จ องค์ล้นเกล้ารัชกาลที่๖ ไปบางประอิน ยาขอบจึงเห็นว่าการที่จะได้ตามไปบางประอินนั้น จะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับองค์ล้นเกล้า จึงขอติดตามสมัครไปด้วยเป็นเด็กรับใช้พระยาพิทักษ์ภูบาล โดยเมื่อพระยาพิทักษ์ภูบาล ได้ทราบว่า  ยาขอบเคยอยู่กับพระยาบริหารนครินทร์ มาก่อน จึงรับไว้ทันที ซึ่งณะนั้นยาขอบมีอายุประมาณ ๑๕-๑๖ ปี

            ด้วยที่ ยาขอบเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด และคล่อแคล่ว  ทำให้ได้รับเมตตาใช้สอยใกล้ชิด รวมทั้งมีหน้าที่อ่านหนังสือให้ฟัง หรือเขียนตามคำบอก จนมีอายุได้ ๑๗ปีเต็มซึ่งต้องไปขึ้นทะเบียนทหาร พระยาพิทักษ์ภูบาลจึงนำตัวไปเป็นสารวัตรทหาร สำหรับติดตามรับใช้ต่อไป ครั้นในสมัยรัชกาลที่๗ ประเทศไทยประสบภาวะเศรษกิจ อันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ ของโลกถดถอยลงจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระยาพิทักษ์ภูบาล ได้ถูกดุลออกจากราชการ มาประกอบอาชีพ ค้าขาย ซึ่งยาขอบได้ช่วยอยู่ระยะหนึ่งจึงได้ลาออกมา

            ทำให้ยาขอบต้องเร่รอน  ก็ได้เจอกับครูถนิม  เลาหะวิไล ครูที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ที่ยาขอบได้เคยมีการโต้เถียงอย่างรุนแรง จนต้องออกจากโรงเรียน ครูถนิม เลาหะวิไล ได้นำยาขอบ ไปฝากเข้าทำงานที่ ร้านพร้อมภัณฑ์ของคุณพร้อม วีระสัมฤทธิ์ ซึ่งกำลังออกหนังสือการเมืองรายสัปดาห์ชื่อ"สยามรีวิว"โดย ครูถนิม เลาหะวิไล เป็นบรรณาธิการ ยาขอบซึ่อมีหน้าที่รับผิดชอบในการเขียนตามคำบอกของคุณพร้อม วีระสัมฤทธิ์ ที่มีสุขภาพไม่ดีในอัตราค่าจ้างเดือน ละ ๑๕ บาท แต่ทำงานอยู่ได้แค่ ๑๒ วัน ยาขอบหยุดงานไปโดนไม่ลา จึงถูกให้ออกจากงาน  จากนั้นได้ไปขอทำงานที่หนังสือพิมพ์ธงไทย ของเพื่อนคือ เฉวียง เศวตะทัต ในฐานะผู้สื่อข่าว ซึ่งนับว่าเป็นโอกาส ครั้งแรกที่ได้เขียนหนังสือ และได้มีส่วนรายงานข่าวแบบใหม่เหมือนวรรณกรรมข่าว จนเป็นที่พอใจมากของผู้เป็นบรรณาธิการ แต่หนังสือพิมพ์ธงไทย ก็ต้องปิดตัวเองลงเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ ขณะนั้นยาขอบมีอายุได้ ๒๐ปี

            หลังตกงานได้มีมิตรผู้ใหญ่ ไปฝากทำงานที่ห้างขายยาเพ็ญภาค ประจำอยู่ในแผนกโฆษณษาเริ่มต้นจากเงินเดือน ๓๕ บาท ยาขอบสามารถทำงานได้ดีพอใจมากจนได้เงินเดือนขึ้นเป็น ๘๐ บาท ในระหว่างนั้นยาขอบก็ยังคบหากับเพื่อนโรงเรียน เทพศิรินทร์ที่ได้เป็นนักเขียนหลายคนแล้ว เช่น ศรีบูรพา - กุหลาบ สายประดิษฐ์, เฉลียง เศวตะทัต, ป่วน บูรณศิล ปิน, สด กูรมะโรหิต, เปลื้อง ณ นคร ฯลฯ

            พ.ศ.๒๔๗๒ ศรีบูรพา- กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้จัดตั้งคณะนักเขียนสุภาพบุรุษ ออกหนังสือ “สุภาพบุรุษรายปักษ์” มีคราวหนึ่งครูอบ ไชยวสุ หรือ ฮิวเมอรืริสต์ มีเหตุจำเป็นไม่สามารถส่งต้นฉบับเรื่องตลกประจำเล่มได้ ศรีบูรพา ได้เห็นว่ายาขอบ เป็นผู้มีอารมร์ขันอยู่มาก จึงเคี่ยวเข็ญให้เขียนเรื่องมาลงแทน พร้อมกับได้ตั้งนามปากกาให้ว่า “ยาขอบ“  เลียนแบบมาจากนักเขียนเรื่องตลกชาวอังกฤษที่ชื่อ เจ.ดับบิว.ยาค็อบ ทำให้เกิดงานประพันธ์เรื่องแรกในนาม “ยาขอบ”  คือ “จดหมายเจ้าแก้ว”  ทำงานอยู่ที่ห้างขายยาเพ็ญภาคย่างเข้าปีที่ ๕ ก็ต้องออก เพราะได้ไปมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับน้องสาวสุดที่รักเจ้าของห้าง  คือคุณจรัส ซึ่งได้เป็นภรรยาคนแรกของยาขอบ จนมีบุตรคือ นายมานะ แพร่พันธุ์ ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บ้านเมืองรายวัน ต่อมานั้นยาขอบได้มีภรรยาอีกหลายคนคือ คุณสงวนศรี, คุณ ชลูด, คุณประกายศรี ศรุตานนท์  แต่ก็ไม่มีบุตร 

            ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ เมื่อออกจากงานที่ห้างขายยาเพ็ญภาค ก็ได้ไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน ชื่อว่า สุริยา และได้เริ่มต้นเขียนอมตนิยายปลอมพงศาวดารเรื่องยอดขุนพล ในนามยาขอบ ที่นี่ โดยยาขอบได้อาศัยเค้าเรื่องจาก พงศาวดารเพียง ๘ บรรทัด แต่เขียนได้ไม่นานหนังสือพิมพ์สุริยาก็ปิดกิจการลง  ต่อมาเมื่อนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ไปทำหนังสือพิมฑ์ประชาชาติ ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ยาขอบได้ถูก กำหนดให้เขียนเรื่องยอดขุนพลต่อไปอีก แต่เรียมเอง นายมาลัย ชูพานิช ได้เปลี่ยนชื่อเรื่องให้ใหม่เป็นผู้ชนะสิบทิศ โดยเริ่มพิมพ์ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๕ จนจบภาคหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๖ และลง พิมม์ต่อเนื่องได้ ๔ ปี ก็หยุดอีกครั้ง ต่อมาจึงไปต่อตอนที่หนังสือพิมพ์สยามนิกร ยังไม่ทันจบก็ต้องยุดอีก และหยุดลงจนยาขอบได้เสียชีวิตลง  แม้นวนิยายผู้ชนะสิบทิศ ที่ยาขอบประพันธ์ยังไม่จบลง แต่ผู้ชนะสิบทิศที่ยาขอบได้เสกสรรค์นี้ ได้รับความนิยมจากผู้อ่านมากที่สุด มาทุกยุคทุกสมัย และ ผู้ชนะสิบทิศนี้ เป็น บทประพันธ์ที่ทำให้ ชื่อของยาขอบ ติดตรึงอยู่บนฟากฟ้า ทำเนียบนักประพันธ์ไทยไปตลอดกาล

            อย่างไรก็ตามยังคงมีหลักฐานปรากฏไว้ว่า ยาขอบได้เริ่มเขียนนวนิยายเรื่องแรก แล้วพิมพ์จำหน่ายเป็นเล่มมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๑ ชื่อ มารหัวใจ โดยใช้นามปากกาว่า กฤษณา และเริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ อารมร์ โดยใช้นามจริง ลงในหนังสือช่วยกาชาด เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๗๕ นอกจากนั้ยังมีบทประพันธ์พวกเรื่องแปล ร้อยกรอง สารคดี บทความ และอื่นๆอีกมากมาย ยาขอบเป็นคนที่ ชอบดื่มสุราอย่างหนัก แต่เวลาจะเขียนเรื่องนั้นยาขอบจะไม่ดื่มสุราเลย แต่จะสูบบุหรี่จัด และพิถีพิถันในงานเขียนทุกเรื่อง โดยเขียนหวัดแกมบรรจง ใช้หมึกสีน้ำเงินลงบนกระดาษสีชมพู และมุมระดาษทุกแผ่นจะต้องมีชื่อ ยาขอบ อยู่ด้วย
            ยาขอบยังเคยได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รับเชิญเป็นกรรมการวางหลักสูตรวิชาหนังสือพิมพ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารหนังสือพิมพ์ประชามิตรรายสัปดาห์ และยังเคยได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดพระนคร เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ แต่สอบไม่ได้

            ต่อมายาขอบก็ได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญมาโดยตลอด  และในการที่เขาคิดว่าความสุขคือการให้  เลยไม่เป็นคนที่สะสมทรัพย์ เมื่อมีเงินทองเท่าไรก็แบ่งปันให้กับมิตรสหายจนหมด  จนทำให้ภรรยาของเขานั้นทนอยู่ไม่ได้  และเรื่องที่เขารักการดื่มสุรายิ่งกว่าสิ่งใด  แม้ยาขอบจะเป็นคนที่มีกิริยาสุภาพ  อ่อนโยน  มีเสน่ห์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ภรรยาของเขาต้องรู้สึกดีเลย จึงได้จากเขาไปเหลือแต่ คุณประกายศรี  ศรุตานนท์  ที่อยู่เป็นเพื่อนคอยรักษาพยาบาลในช่วงสุดท้ายของชีวิตเท่านั้น   เพราะนับตั้งแต่พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นต้นมา  สุขภาพเริ่มทรุดโทรมด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง  วัณโรค  และเบาหวาน  จนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๙  รวมอายุได้ ๔๘ ปี  ๑๐ เดือน ๒ วัน และได้จัดณาปนกิจศพที่วัดมกุฏกษัตริยารามวันที่  ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ โดยจอมพลแปลก  พิบูลสงคราม  ไปเป็นประธาน

นามปากกา
- ยาขอบ กรทอง ช.ช้าง กฤษณา
 
งานเขียนครั้งแรก
          เรื่อง “จดหมายเจ้าแก้ว” ใช้นามปากกา “ยาขอบ”
 
ผลงานรวมเล่ม
  
นวนิยาย
-          ผู้ชนะสิบทิศ พรานสวาท
 
รวมเรื่องสั้น
-           อารมณ์ คามวาลี รอยโครอยเกวียน รักแท้ หลังฉากผู้ชาย เพื่อนแพง หล่อนชั่วเพราะชาย เมียน้อย ผู้หญิงมุมมืด ฯลฯ
 
เรื่องแปล
-          สนมพระจอมเกล้า ขวัญใจจอมขวาน (ร่วมกับคนอื่น) บุปผาในกุณฑีทอง ฯลฯ
 
 สารคดี
-          สินในหมึก เรื่องไม่เป็นเรื่อง หนุมานลูกใคร ที่ว่าโป๊โป๊นั้นประการใด
 
 ผลงานเรียบเรียง
-          มหาภาระตะ สามก๊กฉบับวณิพก
 
ร้อยกรอง
-          อะไรเอ่ย ยาขอบสอนตน
 
เกียรติยศที่ได้รับ
-          เป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบัน
            - ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๙  รวมอายุได้ ๔๘ ปี  ๑๐ เดือน ๒ วัน