การศึกษาไทยที่ยังก้าวไปไม่ถึงประชาคมอาเซียน


 บันทึกโดย Admin  19 ก.ย. 2556

การศึกษาไทยที่ยังก้าวไปไม่ถึงประชาคมอาเซียน

วันพุธที่ 18 กันยายน 2556 เวลา 16:24 น.


ธันวาคม 2558 คือกำหนดการที่สมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations: ASEAN) ทั้งสิบประเทศ พร้อมใจกันก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community: AC) ที่หลายสิ่งหลายอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขที่สมาชิกตกลงกันไว้ ทั้งด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมและวัฒนธรรม 

ท่ามกลางการเตรียมความพร้อมที่มีการปลุกเร้ากันวันนี้ สิ่งที่ได้ยินและได้เห็นเป็นประจำ มักเป็นเรื่องของการแข่งขันในทางเศรษฐกิจที่จะทำให้คนในชาติได้เปรียบ และเพื่อประโยชน์ชาติเป็นหลัก ประการสำคัญ การศึกษาก็ยังมาทางเดียวกันอีก คือปลูกฝังเยาวชนให้เรียนรู้เพื่อนบ้านในฐานะคู่แข่งขัน และให้มองจุดอ่อนของเขาเพื่อสร้างความได้เปรียบของเรา ทั้ง ๆ ที่วันนี้ วันที่ยังไม่เป็นประชาคมอาเซียน ไทยก็มีเรื่องราวขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะชาติที่ใช้รั้วบ้านร่วมกันหลายอย่าง แล้วเมื่อเป็นประชาคมอาเซียน จะไม่แย่หนักไปกว่านี้หรือ เพราะตรงกันข้ามกับหลักการประชาคมฯ ตั้งแต่ ‘เสาแห่งความมั่นคง’ ต้นแรกที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แล้ว ‘เสาเศรษฐกิจ’ และ ‘เสาสังคมและวัฒนธรรม’ จะไปค้ำให้อยู่รอดได้อย่างไร 

ดร. พิสิษฐ์ วรอุไร ประธานคณะที่ปรึกษาประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี บอกเล่าถึงความรู้สึกที่เคว้งคว้างเมื่อมองอนาคตของอาเซียน “ถ้าเรายังไม่ปรับความคิด ปรับทัศนคติเสียใหม่ อาเซียนก็คงไปไม่รอด เราต้องคิดว่าวัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียนคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ร่มเย็น และเป็นปกติสุข ไม่ใช่การแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นกัน เพราะถ้าแต่ละประเทศมุ่งแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ ความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นไม่รู้จักจบสิ้น กระบวนการจัดการเรียนการสอนจึงมีผลกระทบต่อความคิดและทัศนคติของเด็กด้วย” 

พร้อมกันนี้ ดร. พิสิษฐ์ ได้ตั้งโจทย์หลักฝากครู อาจารย์ และผู้บริหารการศึกษาว่าจะสร้างเด็กอย่างไรให้เป็นคนเก่ง มีความรู้ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนหมู่มากเป็นสำคัญ “ซึ่งในอนาคต เราคงจะไม่ได้คำถึงถึงผลประโยชน์ของคนในประเทศเท่านั้น แต่เราต้องมองเห็นผลประโยชน์ของคนในประชาคมอาเซียนด้วย แต่ถ้าเรายังไม่คิดถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมเล็ก ๆ แล้ว นับประสาอะไรกับประเทศชาติและภูมิภาคอาเซียน” 

นี่คือเรื่องท้าทายผู้เป็นครู อาจารย์ และผู้บริหารการศึกษา อนาคตไทยในประชาคมอาเซียนจะเป็นอย่างไร บริบทสำคัญคือการศึกษา คือวิชาความรู้ที่จำเป็นต่อการสร้างความเข้าใจ และสามารถสื่อสารได้ คือการปลูกฝังให้เด็กมีน้ำใจและรู้จักเสียสละ แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราจะต้องสร้างฐานะทางครอบครัวของประชาชนในประเทศเราให้ดีควบคู่กันไปด้วย เพราะถ้าคุณภาพชีวิตของครอบครัวเด็กไม่ดี เด็กก็จะไม่ได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ หรือไม่ก็อาจไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะต้องทำงานแลกกับเงินเพื่อหาเลี้ยงปากท้องตนเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ วงจรอุบาทว์ก็จะเกิดขึ้น เราจะไม่มีทางแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศได้ ถ้ายังมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป 

คำถามก็คือ ทุกวันนี้เราให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเพียงพอแล้วหรือยัง ตราบใดที่การศึกษาของเยาวชนไทยยังรั้งท้ายในอันดับที่แปดของสิบชาติ (World Economic Forum: WEF) ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าเรื่องปากท้อง ปัญหาอาชญากรรม ความขัดแย้ง การทุจริต คอรัปชั่น ก็ยากที่จะลดน้อยลง และจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการเป็นประชาคมอาเซียนได้ ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มาจากความไม่รู้ หรือรู้เพียงผิวเผินเท่านั้น การสร้างความร่วมมือของประชากรในแต่ละประเทศ จำเป็นต้องก้าวข้ามอคติและความเห็นแก่ตัวให้ได้ เพราะหลักนิยมประชาคมอาเซียน คือการสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม 

คำนิยามสำหรับ ‘ผู้มีการศึกษา’ จึงไม่ใช่ใบปริญญาที่แสดงการเป็น ‘ผู้มีความรู้’ เพียงอย่างเดียว ยังต้องเป็น ‘ผู้มีความคิด’ ที่รู้จักคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม และเป็น ‘ผู้มีปัญญา’ ที่รู้จักใช้ปัญญาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่แสวงหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบ ซึ่งไม่ใช่อย่างที่เห็น ๆ กันในปัจจุบันว่า ผู้มีใบปริญญาใช้วิชาความรู้เพื่อเอาเปรียบคนยากจน และเป็นผู้ก่อปัญหาเสียเอง! 

สมจิตร์ พูลสุข

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/

ผู้เข้าชม : 1191