ความเป็นมาของ Admission


 บันทึกโดย Admin  19 มี.ค. 2556

ความเป็นมาในองค์ความรู้ของการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบคัดเลือกรวม 
(Central University Admissions System: CUAS)

1. ความเป็นมาของระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบคัดเลือกรวม(Central University Admissions System: CUAS) ช่วงก่อนปีการศึกษา 2504- ปีการศึกษา 2542 
- ก่อนปีการศึกษา 2504   มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งดำเนินการสอบเอง 
- ปีการศึกษา 2504         มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ จัดสอบร่วมกันมีสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงาน 
- ปีการศึกษา 2505         มหาวิทยาลัย 5 แห่ง ที่มีอยู่ในขณะนั้น ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย    แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัย ศิลปากร จัดสอบร่วมกัน

            การสอบคัดเลือกรวมนี้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการสละสิทธิ์และการเพิ่มจำนวนที่ต้องสำรองที่นั่งจากการที่ผู้สมัครสอบได้หลายมหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนในขณะนั้นต้องเสียเวลาสอบหลายแห่งมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากและมีผู้สมัครเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 
- ปีการศึกษา 2509         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้มหาวิทยาลัยต่างๆ กลับไปใช้วิธีสอบแยก      แต่การดำเนินการเกิดปัญหามาก มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องเลื่อนเปิดเทอมออกไป  เนื่องจากต้องมีการเรียกสอบสัมภาษณ์เพิ่มหลายรอบ 
- ปีการศึกษา 2510         คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของสภาการศึกษาแห่งชาติ  ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ กลับมาใช้วิธีสอบรวมอีก 
- ปีการศึกษา 2516         ทบวงมหาวิทยาลัยรับโอนงานสอบคัดเลือกจากสถานศึกษาแห่ง  ชาติจนถึงปัจจุบัน

            แนวทางการคัดเลือกในช่วงนี้ ผู้สมัครมีสิทธิ์เลือกคณะหรือสถาบันการศึกษาได้  6 อันดับและเลือกวิชาสอบไปในคราวเดียวกัน หลังจากที่ระบบสอบคัดเลือกรวมได้ดำเนินการได้ระยะหนึ่ง ได้เกิดมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นพอจะประมวลได้ดังนี้

  1. การคัดเลือกแบบเดิมมีผลทางลบต่อการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กล่าวคือ ผู้เรียนส่วนใหญ่จะไม่สนใจเรียนวิชาที่ไม่ต้องใช้ในการสอบคัดเลือก เพราะเป้าหมายของการเรียนคือการสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยหรือสาขาวิชาที่ต้องการผลคือ นักเรียนที่เรียนดีได้มุ่งสอบเทียบเพื่อให้ตนมีคุณสมบัติเทียบเท่าสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แล้วเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยโดยเรียนไม่ครบตามชั้นปี ผู้ปกครองหรือนักเรียนอาจเห็นว่าประหยัดเงินและเวลา แต่ผลที่ตามมาคือ ผู้เรียนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาก่อนมีวุฒิภาวะที่เหมาะสม  และการจัดชั้นเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมีปัญหา
  2. การคัดเลือกแบบเดิมได้นักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถไม่สอดคล้องกับสาขาวิชาที่เรียน เนื่องจากมีการสอบเฉพาะวิชาสามัญ
  3. จำนวนผู้เข้ารับการคัดเลือกมีแนวโน้มสูงขึ้น
  4. เป็นการสร้างความเครียดให้นักเรียนและผู้ปกครอง เพราะเลือกคณะ/สถาบันพร้อมกับการสมัครสอบ
  5. มีข้อจำกัดเรื่องเวลา เนื่องจากดำเนินการเฉพาะช่วงปิดเทอมเท่านั้น

2. การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบใหม่ (พ.ศ.2542-2548) 
ทบวงมหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกฯ (เอกสารหมายเลข1) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมวิชาการ ผู้แทนกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมเป็นอนุกรรมการได้เสนอรูปแบบการคัดเลือกฯ ระบบใหม่ต่อทบวงมหาวิทยาลัย และให้ใช้ตั้งแต่ปีการษึกษา 2542 เป็นต้นไป 
วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงระบบการคัดเลือก มี 2 ประการ คือ

  1. เพื่อให้มหาวิทยาลัย/สถาบันได้ผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถและความถนัดตรงกับสาขาวิชาที่เรียน
  2. เพื่อส่งเสริมให้การเรียนการการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นไปตามปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

ทั้งนี้ ในการคัดเลือกระบบใหม่จะพิจารณาผู้สมัครจากองค์ประกอบต่อไปนี้

  1. ผลการเรียนตลอดหลักสูตรระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าให้ค่าน้ำหนัก 10%
  2. ผลการสอบวิชาหลักและวิชาเฉพาะ (หรือเรียกรวมว่า การสอบวัดความรู้) ให้ค่าน้ำหนัก 90 %

การดำเนินการสอบวิชาเฉพาะและวิชาหลัก จัดปีละ 2 ครั้ง แล้วนำคะแนนครั้งที่มากมาคิดคำนวณจัดประมวลผลในการเรียงลำดับที่ของผู้สมัครแต่ละคน 
จุดเด่นของการคัดเลือกระบบใหม่

  1. นำผลการเรียนของชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมาร่วมด้วย
  2. มีการสอบปีละ 2 ครั้ง ทำให้นักเรียนมีโอกาสพัฒนาตนเอง คะแนนสอบเก็บไว้ใช้ 2 ปี สามารถเลือกคะแนนที่ดีที่สุดมาใช้ในการสมัครคัดเลือก
  3. ทราบผลคะแนนสอบล่วงหน้าก่อนการเลือกคณะ ทำให้มีโอกาสเลือกได้ตรงกับความสามารถของตน

จุดอ่อนของการคัดเลือกระบบใหม่

  1. ทำให้นักเรียนมีภาระการสอบและเกิดความเครียดมากขึ้นจากเดิม เนื่องจากมีการสอบสองครั้ง
  2. โรงเรียนพยายามเร่งสอบให้จบก่อนการสอบเดือนตุลาคม เพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมด้านเนื้อหามากที่สุด เป็นเหตุให้เกิดผลเสียต่อระบบการเรียนการสอนตามปกติ
  3. การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบกลาง (Admissions)

3. การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบกลาง (Admissions)
3.1 การคัดเลือกด้วยระบบ Admissions ระยะที่ 1
ตามหนังสือที่ ทปอ.44/147 ลงวันที่ 19 เมษายน 2544 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้ทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณาปรับปรุงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในระบบสอบรวม โดยขอให้เริ่มตั้งแต่รุ่นปีการศึกษา 2547 เป็นต้นไป โดยยึดหลักการให้เพิ่มผลการเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกมาขึ้น และพิจารณาความสามารถของผู้สมัครจากผลการสอบจากแบบทดสอบวิชาหลักและ/หรือแบบทดสอบมาตรฐาน ความสามารถทางการเรียน ซึ่งจัดสอบจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ที่จะจัดตั้งขึ้น สำหรับผลการเรียน (GPA) ต้องได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือต้นสังกัดต่างๆ เพื่อป้องกันการคิดเกรดผิดพลาด ทั้งนี้ มหาวิทยาลัย/สถาบันอาจกำหนดคุณสมบัติอื่นๆ หรืออาจกำหนดให้มีการสอบวิชาเฉพาะ  ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยหรือกลุ่มมหาวิทยาลัย หรือสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติเป็นฝ่ายจัดสอบ หรือกลไกการสอบรวม (ทบวงมหาวิทยาลัยเป็นผู้ประสานงานและมหาวิทยาลัย/สถาบันเป็นศูนย์สอบ) ในปัจจุบันที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพ เป็นกลไกกลางของการบริหารระบบคัดเลือกรวม การปรับปรุงดังกล่าวจะสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
ในการพิจารณาของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา  ได้ยึดหลักการแนวทางเพื่อกำหนดเป็นระบบกลางการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย มีสาระดังนี้

  1. ระบบใหม่จะต้องปรับเปลี่ยนจากระบบสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบัน อุดมศึกษา (Entrance Examination) เป็นระบบการรับเข้า (Admissions) โดยพิจารณาจากผลการเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และต้องเป็นระบบที่มีความยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้

2. การพิจารณาผลการเรียนเพื่อประโยชน์ในการรับเข้าศึกษาในระบบอุดมศึกษาจะพิจารณา จากการวัดผลด้วยวิธีการและตามช่วงวลาต่าง ๆที่กำหนดในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ตามกระบวนการปฏิรูปการศึกษา

  1. หลีกเลี่ยงการสอบเพิ่มเติม หรือแม้หากมีการสอบเพิ่มเติมกำหนดให้ไม่เกิน 3 วิชา

การปรับปรุงระบบการคัดเลือกได้ดำเนินการมาโดยลำดับ และได้บรรลุข้อยุติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2548 (รายละเอียดตามเอกสารหมายเลข 2) ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ได้ประกาศระบบการคัดเลือกสำหรับการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 โดยกำหนดองค์ประกอบ ดังนี้

  1. GPAX                                             10%
  2. GPA (กลุ่มสาระ)                              20%
  3. O-NET                                            35-70%
  4. A-NET และ/วิชาเฉพาะไม่เกิน 3 วิชา   0-35%

(เหตุผลที่ต้องปรับระบบการคัดเลือกในปีการศึกษา 2549 เนื่องจากเป็นปีที่นักเรียนเรียนจบตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 เป็นรุ่นแรกและเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2549)

ข้อดีของการคัดเลือกในระบบ Admissions คือ

  1. การใช้ผลการเรียนของนักเรียนที่ได้รับจากสถานศึกษา ได้แก่ GPAX  GPA  กลุ่มสาระฯ O-NET จะทำให้นักเรียนมุ่งเรียนในห้องเรียนอย่างเต็มที ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการคัดเลือกที่ต้องการให้การนำผลการเรียนมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือก เพื่อส่งเสริมสนับสุนนให้การเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นไปตามปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร จุดประสงค์ดังกล่าวจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับได้จากสังคมโดยทั่วไป ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็คาดหวังว่าการปฏิรูปการศึกษาจะนำพาให้เกิดการยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ดีกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้การเพิ่มสัดส่วนผลการเรียนมีความน่าเชื่อถือ
  2. การกำหนดให้สอบเพิ่มเติมไม่เกิน 3 วิชา เพื่อป้องกันการกวดวิชาเกินความจำเป็น และคณะ/ภาควิชาได้กำหนดให้สอบเพิ่มเติมเฉพาะวิชาที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อเท่านั้น

ข้อเสีย คือ

  1. เรื่องมาตรฐานโรงเรียนซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ
  2. การให้สัดส่วนค่าน้ำหนักของวิชาเฉพาะ หรือ A-NET ที่น้อยกว่าการให้ค่าน้ำหนักผลการเรียน อาจจะมีผลต่อการคัดเลือก ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีข้อมูลยืนยัน
  3. การกำหนดให้สอบ A-NET /วิชาเฉพาะ ปีละครั้ง ทำให้นักเรียนที่พลาดพลั้งไม่ได้สมัครสอบต้องรออีก 1 ปี จึงจะสมัครสอบและสมัครคัดเลือกในคณะวิชาที่ต้องการได้

3.2 การคัดเลือกด้วยระบบ  Admissions ระยะที่ 2 พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

การคัดเลือกด้วยระบบ Admissions ซึ่งเริ่มเมื่อปีการศึกษา 2549 ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ว่ามีการให้สัดส่วนผลการเรียนมากเกินไป ซึ่งความจริงการสอบคัดเลือก Entrance ก็ดี การคัดเลือกด้วยระบบ Admissions ก็ดี ล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้องทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การรับเข้าศึกษาด้วยระบบ Admissions มีเป้าหมายว่า ถ้าดำเนินการได้เต็มรูปแบบจะต้องถึงจุดที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณารับเข้าและประกาศเกณฑ์ดังกล่าวให้ทราบทั่วกัน นักเรียนหรือผู้ประสงค์จะสมัครเข้าศึกษาต่อ ณ สถาบันอุดมศึกษาแห่งใด จะต้องนำคะแนนผลการสอบที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติจัดสอบเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกันและต้องไม่เพิ่มภาระแก่นักเรียน โดยนักเรียนจะนำคะแนนไปยื่นสมัคร ณ หน่วยคัดเลือกลางที่มีกลไกดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในความยุติธรรมโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล เป็นผู้ทำหน้าที่คัดเลือกให้
การปรับระบบการสอบคัดเลือกปีการศึกษา 2553 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยได้มอบให้ กลุ่มเสวนา Admissions  และ Assessment ดำเนินการ โดยมีหลักการตามที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเห็นชอบคือ ให้พิจารณานำผลการเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและการสอบ Aptitude Test เป็นองค์ประกอบของการคัดเลือก ผลการเรียนประกอบด้วย GPAX และผลการสอบ O-NET ส่วนการสอบ Aptitude Test จะแทนที่การสอบ A-NET และ/วิชาเฉพาะ เนื่องจากหลักการของ Aptitude Test เป็นการทดสอบความถนัดทางการเรียนซึ่งไม่เน้นเนื้อหาวิชา จึงสามารถจัดสอบได้หลายครั้งในแต่ละปี 
องค์ประกอบการคัดเลือกฯ ปีการศึกษา 2553 ที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบมีดังนี้ 
1. GPAX                                             20% 
2. O-NET (8 กลุ่มสาระ)                         30%
3. GAT (General Aptitude Test)            10-50%
4. PAT (Professional Aptitude Test)      0-40%

ที่มา : www.cuas.or.th

ผู้เข้าชม : 1506