|
บทร้องประจำโรงเรียน
บทร้องอโหกุมาร เป็นพระนิพนธ์ของ "พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ " พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ( นมส. ) พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในกวีชั้นยอดแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระยาจรัลชวนะเพท อาจารย์ใหญ่ในสมัยนั้น เห็นว่าทาง โรงเรียนมีงานรื่นเริงประจำปีเสมอจึงควรจะมีบทเพลงประจำสักหนึ่งบท จึงทูลขอให้ทรงนิพนธ์พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ แล้วเสร็จ และ ประทานแก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๔ จากนั้น วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๔ ทางโรงเรียนได้มีหนังสือแจ้งขออนุญาตไปยังกระทรวงธรรมการ เพื่อขอใช้บทพระนิพนธ์นี้เป็นบทร้องประจำ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ต่อจากนั้น พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงโปรดให้หลวงประสานบรรณวิทย์ เป็นผู้ฝึกร้องตามทำนองฝรั่งจนร้องถูกต้องดีเมื่อ วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๗๔ ฉนั้นวันที่ ๑๖ มกราคม๒๔๗๔ จึงเป็นวันที่บทร้องอโหกุมาร กระหึ่มเป็นวันแรก
พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
บทร้องอโหกุมารทรงนิพนธ์ด้วยสยามวิเชียรฉันท์๘ ซึ่งมีความไพเราะมีจังหวะเสียงขึ้นลงสลับกันไปมาซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกโดย บทสยามวิเชียรฉันท์๘นี้ พูดได้ว่ามีเพลงอโหกุมารเพียงเพลงเดียว และ เป็นเรื่องแปลกในการใช้ฉันท์มาใส่ทำนองร้องเป็นเพลงได้ชาวเทพศิรินทร์ ทุกคนไม่ว่ารุ่นไหนจะจบไปนานเพียงใด ถือว่าบทร้องอโหกุมารเป็นเพลงประจำโรงเรียนที่มีความศักดิ์สิทธิ์เมื่อใดที่ได้ยินเพลงนี้ทุกคนจะยืนตรงแสดงความเคารพและร้องด้วยความภูมิใจในเกียรติยศ และศักดิ์ศรี ชาวเทพศิรินทร์มีความภูมิใจเสมอว่าบทร้องอโหกุมารนี้ได้ชื่อว่าเป็นบทร้องประจำสถาบันที่มีความไพเราะที่สุด
บทร้องประจำโรงเรียน
อโหกุมารสถานสิขา | ณ เทพศิรินทร์ระบิลระบือ |
สำเนียงจำโนษอุโฆษก็คือ |
ดรุณสยามมิคร้ามวิชาฯ |
สมัญญะเลิศจะเกิดไฉน |
จะเกิด ณ เมื่ออะเคื้อสิขา |
จะเกิด ณ คราวอะคร้าววิชา |
วิปักษะขามสยามวิชัยฯ |
วิถีสำรวย บ่ งวย บ่ งง |
วิถีสำเริง บ่ เหลิงหทัย |
วิถีสำราญ บ่ ซานจะไป |
วิถีอบาย บ่ หมายจำนงฯ |
วิชาวิบุลย์ดรุณจะเรียน |
ประเกียรติ์จะเกิดประเสริฐประสงค์ |
ประเทศจะงามสยามจะยง |
จะสุดวิเศษก็เหตุเพราะเพียรฯ |
อโหดรุณจะครุ่นสิขา |
อโหกุมารจะอ่านจะเขียน |
วิชาจะเทียบจะเปรียบวิเชียร |
วิเชียรก็ชู บ่สู้วิชาฯ |
วิชา ฤ แล้ง ณ แหล่งสยาม |
หทัยะทัยจะไตรจะตรา |
หทัยะทัยจะใฝ่วิชา |
วิชา ฤ แล้ง ณ แหล่งสยาม |
ณ เทพศิรินทร์ ณ เทพศิรินทร์ |
สถานสิขาสง่าพระนาม |
สำนักกิฬาสง่าสนาม |
ณ เทพศิรินทร์ ณ เทพศิรินทร์ |
ชโย ชโย ชโย
คำแปลบทร้องอโหกุมาร
¤ อโหกุมารสถานสิขา | ณ เทพศิรินทร์ระบิลระบือ |
สำเนียงจำโนษอุโฆษก็คือ |
ดรุณสยามมิคร้ามวิชาฯ |
- เด็กชายทั้งหลายซึ่งอยู่ในสถานศึกษาแห่งนี้ ที่นี่ ที่เทพศิรินทร์ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ เสียงที่กล่าวขานอย่างกึกก้องนั้น คือเด็กชายชาวสยามไม่เคยย่อท้อต่อการศึกษาเล่าเรียน
¤สมัญญะเลิศจะเกิดไฉน | จะเกิด ณ เมื่ออะเคื้อสิขา |
จะเกิด ณ คราวอะคร้าววิชา |
วิปักษะขามสยามวิชัยฯ |
- เหตุใดเล่าสมญานามที่ดีงามเช่นนี้จึงเกิดได้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะความเจริญงอกงามทางการศึกษา เกิดขึ้นก็เพราะได้การศึกษาที่น่าภาคภูมิใจ เด็กชายชาวสยามจะสามารถเอาชนะคู่แข่งทางการศึกษาได้เสมอจนเป็นที่เกรงขาม
¤ วิถีสำรวย บ่ งวย บ่ งง | วิถีสำเริง บ่ เหลิงหทัย |
วิถีสำราญ บ่ ซานจะไป |
วิถีอบาย บ่ หมายจำนงฯ |
- มิได้ลุ่มหลงอยู่กับความโอ่อ่า มิได้มัวเพลินอยู่กับการรื่นเริง
มิได้ปรารถนาจะไปสู่หนทางแห่งความสุขสำราญ ไม่เคยหลงผิดที่จะสู่หนทางแห่งความเสื่อม
¤ วิชาวิบุลย์ดรุณจะเรียน | ประเกียรติ์จะเกิดประเสริฐประสงค์ |
ประเทศจะงามสยามจะยง |
จะสุดวิเศษก็เหตุเพราะเพียรฯ |
- วิชาความรู้เท่านั้นที่เราใส่ใจ เราจะสร้างเกียรติยศชื่อเสียงให้เป็นที่ปรากฏ
ประเทศชาติจะดีงามมั่นคง และเจริญรุ่งเรืองได้ก็ด้วยพวกเราพากเพียรในการศึกษา
¤ อโหดรุณจะครุ่นสิขา | อโหกุมารจะอ่านจะเขียน |
วิชาจะเทียบจะเปรียบวิเชียร |
วิเชียรก็ชู บ่สู้วิชาฯ |
- เด็กชายชาวสยามจะใฝ่ใจในการศึกษา เราจะเพียรเรียนเขียนอ่าน
หากจะนำวิชาความรู้มาเทียบกับเพชร เพชรก็มิอาจเทียบได้กับคุณค่าของความรู้
¤ วิชา ฤ แล้ง ณ แหล่งสยาม | หทัยะทัยจะไตรจะตรา |
หทัยะทัยจะใฝ่วิชา |
วิชา ฤ แล้ง ณ แหล่งสยาม |
- เมื่อรู้คุณค่าของความรู้เช่นนี้แล้ว และเมื่อดวงใจทุกดวงจดจ่อในการศึกษาเช่นนี้แล้ว มีหรือที่วิชาความรู้จะสูญสิ้นไปจากแดนสยาม
¤ ณ เทพศิรินทร์ ณ เทพศิรินทร์ | สถานสิขาสง่าพระนาม |
สำนักกิฬาสง่าสนาม |
ณ เทพศิรินทร์ ณ เทพศิรินทร์ ชโย ชโย ชโย |
- ที่เทพศิรินทร์ ที่เทพศิรินทร์แห่งนี้ สถานศึกษาที่เชิดชูพระนามว่าเทพศิรินทร์ เป็นที่ยอมรับยิ่งขึ้น สถานศึกษาที่สร้างนักกีฬาที่องอาจในสนามแข่งขัน ที่นี่ที่เทพศิรินทร์ที่เทพศิรินทร์แห่งนี้
ขอจงรุ่งเรือง...สืบไป