กำเนิดตึกแม้นนฤมิตร และ ตึกโชฏึกเลาหะเศรษฐี

เริ่มก่อเป็นตึก

            พ.ศ. ๒๔๓๘ เริ่มสร้างอาคารเรียนบริเวณหน้าวัด๒หลังคือตึกแม้นนฤมิตร อีกหลังหนึ่งคือตึกโชฏึกเลาหะเศรษฐี
            สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์เล็ก ในองค์สมเด็จพระนางเจ้าเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงดำริจะสร้างถาวรวัตถุขึ้นภายใน วัดเทพศิรินทราวาส เพื่ออุทิศพระราชกุศล สนองพระเดชพระคุณ พระราชมารดาประจวบกับ หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ชายาของพระองค์ได้ถึงแก่อสัญกรรมลงจึงทรงกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวขอพระราชทานการสถาปนา และ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สร้างอาคารเรียนขึ้น ในวัดเทพศิรินทราวาส และทรง ได้ชักชวนข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคย และได้พึ่งพระเดชพระคุณใน องค์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ให้ร่วม บริจาคทรัพย์ เพื่อสร้างอาคารเรียน และ บูรณะศาลาการเปรียญ
            ๑. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงพระราชทานทุนทรัพย์บริจาค ๑๕,๐๐๐ บาท
            ๒. พระนานรรัตน์ราชมานิต (โต มานิตกุล) บริจาค ๑๕,๐๐๐ บาท
            ๓. หลวงเจริญราชธน ภายหลังเป็นพระยาโชฏึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหะเศรษฐี) บริจาค ๑๕,๐๐๐ บาท
รวมเป็นเงิน๔๕,๐๐๐ บาท ปรากฎหลักฐานจากจดหมายที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ลงวันที่๓ กันยายนร.ศ. ๑๒๐ว่าได้ให้ช่าง กะราคาก่อสร้างอาคารโรงเรียนวัดเทพศิรินทราวาส และ มิสเตอร์แฟร์ดโดได้ตรวจสอบรายการเห็นว่าตามราคาที่มิสเตอร์บรูโน รับทำนั้นยังไม่เป็นการเพียงพอ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานทุนทรัพย์สมทบอีก เมื่อการ ก่อสร้างตึกแม้นนฤมิตรจวนจะแล้วเสร็จนั้น ทางโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มีเหตุจำเป็นที่จะต้องย้ายออกจากพื้นที่ องค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริจะย้าย โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มาอยู่ที่ตึกแม้นนฤมิตร
            จากหลักฐานจดหมายเหตุพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ลงวันที่ ๓ กันยายน ร.ศ. ๑๒๐ มีข้อความเขียนอีกว่า "รุปพรรณสันฐาน แลราคาที่จะว่าตกลงกันไว้ไม่เป็นติขัดขวางอันใด มีข้อน่าเสียดายอยู่นิดหน่อยที่เรียกชื่อว่า โรงเรียนสวนกุหลาบ เพราะโรงเรียนได้ตั้งแต่แรกที่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทยแล้ว จะสูญเสียไปก็คราวนี้แหละ เพราะเหตุที่ไปตั้งอยู่ที่ตึกแม้นนฤมิตร์ซึ่งเงินของเราก็ได้ออกจริงๆแต่ของเราก็มั่งนี่จะทำอย่างไรให้ลองนึกดูที" จดหมายเหตุฉบับนี้แสดงพระราชประสงค์ของ องค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าตึกเรียนนี้พระองค์ ได้บริจาคเงินแต่ก็เป็นเพียงบางส่วนจึงไม่ควรที่จะใช้นามว่าโรงเรียนสวนกุหลาบเหมือนโรงเรียนแรกเดิมจึงเป็นเหตุ ให้กรมศึกษาธิการส่งจดหมาย ลงวันที่ ๒ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๑ ถึงมิสเตอร์บรูโน นายช่างผู้รับเหมาก่อสร้างให้ เปลี่ยนนามที่หินแกะจากโรงเรียนสวนกุหลาบ เป็น โรงเรียนเทพศิรินทร์
            จากจดหมายเหตุทั้งสองนี้ทำให้เกิดเป็นการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามแก่โรงเรียนแห่งนี้ว่า "โรงเรียนเทพศิรินทร์" และนามแก่ตึกที่สร้างว่า"ตึกแม้นนฤมิตร" การสร้างตึกแม้นนฤมิตรนั้นทุนรอนที่รวบรวมยังไม่เพียงพอดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงบริจาค สมทบอีกครั้งและกระทรวงธรรมการลงทุนเพิ่มอีก ๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนตึกโชฏึกเลาหะเศรษฐี ซึ่งเป็นที่เรียนวิทยาศาสตร์ ตึกหลังนี้สร้างด้วยทุนของพระยาโชฏึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหะเศรษฐี) เป็นเงิน ๑๑,๐๐๐ บาท ตึกแม้นนฤมิตรและตึก โชฏึกเลาหะเศรษฐีสร้าง เสร็จสมบูรณ์และได้เปิดใช้เป็นโรงเรียนเมื่อ วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๔๕