กำเนิดตึกเยาวมาลย์อุทิศ

            ในปี พ.ศ.๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ ที่จะทรงเกื้อหนุนการศึกษาในประเทศสยามให้ก้าวหน้า ยิ่งขึ้นดังปรากฏในจดหมายถึง พระยาวิสถทธสุริยศักดิ์ ลงวันที่ ๑๑สิงหาคมร.ศ.๑๒๙ ว่าได้นึกปรารภถึงการที่จะอุดหนุนการเล่าเรียนใน เมืองเราให้ดำเนินแพร่หลายเร็วขึ้นเบื้องต้นก็เดินทางให้ถูกคือ ทำพื้นให้กว้างจึงจะได้ยอดที่งามตามที่ได้ปรารภแล้วนั้นแต่การที่จะปรารภ อย่างไรเมื่อไม่มีกำลังหนุนก็จะสำเร็จไม่ได้
            ในตอนท้ายของพระราชหัตถเลขามายังกระทรวงธรรมการในฉบับนี้ ได้แสดงพระราชประสงค์ที่จะ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราช ทานเงินมรดกจำนวน ๘๐,๐๐๐บาท อันเป็นสมบัติของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าหญิงเยาวมาลย์นฤมลกรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วให้กระทรวงธรรมการ จัดสร้างตึกเรียนขึ้น ทางด้านหน้าวัดทางฝั่งใต้ตรงข้ามกับตึกแม้นนฤมิตรที่มีอยู่แล้วทางด้าน ทิศเหนือโดยทรงมุ่งหมายเป็นแบบอย่างให้ชนทั้งหลาย ถือเอาการสร้างสถานศึกษาเล่าเรียนเช่นนี้ ว่าเป็นสิ่งกอปรด้วยประโยชน์และต้องด้วย พระราชนิยม ยังมีพระราชกระแสต่อไปว่า ถ้าจะก่อสร้างนั้นแม้ในจำนวนเงิน๘๐,๐๐๐บาทนั้น จะไม่เพียงพอพระประยูรญาติของสมเด็จ เจ้าฟ้าพระองค์นั้น ก็จะทรงบริจาคเพิ่มเติมให้จนสำเร็จ เพื่ออุทิศพระราชกุศลแด่ องค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุน สวรรคโลกลักษณวดี
            กระทรวงธรรมการ ได้รับพระราชโองการใส่เกล้าฯ ให้เขียนแผนที่กะการที่ตั้งโรงเรียน และ เขียนรูปอย่างโรงเรียนที่จะก่อสร้างนั้น ขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ตัวไม้ทั้งสิ้นใช้ไม้สักคานใช้เหล็กหลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์มีห้องเรียน ๑๒ ห้องจุนักเรียนได้ห้องละ ๓๐ คนรวมทั้งหมด ๓๖๐คน ตึกเรียนทำอย่างแน่นหนาถาวรทุกประการแบบอย่างอันนี้เป็น อันต้องพระราชประสงค์แล้ว จึงได้เรียกช่างมาว่าประมูลราคาที่จะ ก่อสร้างตัวอาคารเรียนทั้งถมดินบริเวณตึกเรียน และ สนามรื้อศาลาเก่าสองหลังก่อถนนใหม่ แก้รั้วกำแพงและประตูเข้าหาถนนใหม่ตามแบบ อย่างที่ได้ทูลเกล้าถวายนั้นรวมราคา๙๐,๕๐๐ บาท เงินส่วนที่เกินจากจำนวนที่พระราชทานอีก_๑๐,๕๐๐บาท นั้น พระอรรคชายาเธอพระ องค์เจ้าสายสวลีภิรมย์(พระวิมาดา เธอกรมพระสุทธาศินีนาฎปิยมหาราชปดิวรัดา) ได้ทรงพระกรุณาประทานให้จนครบ(ทำโดยพระศรัทธา ส่วนพระองค์) แต่การก่อสร้างเมื่อแรกจะได้ลงมือทำก็พอมีเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวร และเสด็จสวรรคต เสียก่อนอันเป็นที่เศร้าสลดใจ เป็นอย่างยิ่งที่มามีเหตุร้ายขึ้นในระหว่างการหาได้ทันเสด็จทอดพระเนตรไม่
            เมื่อการก่อสร้างสำเร็จเป็นตึกเรียนเรียบร้อยแล้วจึงเป็นเหตุให้ พระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา และพระ เจ้าน้อง นางเธอเจ้าฟ้านิภานภดล พระขนิษฐาภคินีของ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี ได้ทรง พระศรัทธาดำรัสสั่งให้กระทรวงธรรมการ สร้างเครื่องใช้สำหรับอาคารเรียนด้วยทุนทรัพย์ของพระองค์ อีกประมาณ ๙,๐๖๒บาทมีตู้โต๊ะเก้าอี้เป็นต้น (เพื่อสนองพระคุณของพระเชษฐภคนีของพระองค์)
            โดยตามหลักฐานจากพระจดหมายเลขที่๑/๓๑๕ ลงวันที่๒๖ตุลาคมร.ศ.๑๓๐ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ที่ทรงส่งถึงกระทรวงธรรมการ จากที่พักข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช มีความว่า

"ด้วยได้รับจดหมายที่๖๖/๔๓๕๗ ลงวันที่ ๒๓สิงหาคมร.ศ.๑๓๐นำส่งบัญชีสิ่งของพัสดุตามที่ฉันจะอุดหนุนแกโรงเรียนเทพศิรินทร์ ถ้าฉันเห็นชอบด้วยแล้วเจ้าคุณจะได้จัดการสร้างเพื่อให้ทันสำหรับเปิดโรงเรียนในฤดูแล้งนี้นั้น เรื่องสื่งของที่จะจัดสร้างสำหรับอุดหนุน โรงเรียนเทพศิรินทร์นั้นบัดนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้ามาลนีนพดารา และ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้านิภานภ ดลทั้งสอง พระองค์มีพระประสงค์ที่จะทรงสร้างสิ่งของเหล่านั้นเป็นการอุดหนุนให้แก่โรงเรียน ตามบัญชีที่ส่งมาทั้งหมดเพราะฉนั้นถ้าสิ่งของได้ สร้างเสร็จแล้วเมื่อใดฉันเห็นควรว่าเจ้าคุณจะสั่งให้ช่างแกะใส่พระนามให้หมดทุกอย่าง"
            การทั้งปวงได้จัดทำสำเร็จลงในต้น ร.ศ.๑๓๑ (พ.ศ.๒๔๕๕) องค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระกรุณา โปรดเกล้าฯพระราชทานนามตึกหลังนี้ว่าตึกเยาว์มาลย์อุทิศ ดังสำเนาพระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๒๒ มกราคม ร.ศ.๑๓๑ว่า

"โรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นที่ด้านใต้ ทางหน้าวัดเทพศิรินทราวาส ยังหา ได้พระราชทานนามไว้แต่เดิมไม่บัดนี้ถึงเวลาที่จะได้ปั้นปูนเป็นอักษรชื่อประจำตึก ขอชื่อมานั้นให้ชื่อ "เยาวมาลย์อุทิศ" "

            ครั้นถึงเวลาที่จะเปิดสถานที่นี้เป็นโรงเรียน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ดำรัสว่าควรที่จะพระราชทานให้ องค์สมเด็จพระเจ้าน้องยา เธอเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ไปทรงเปิดเป็นงานหลวง แต่เป็นเวลาที่เจ้าฟ้ายุคลฯเสด็จอยู่ที่มณฑลนครศรีธรรมราช เสียจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ไปเปิดแทนเจ้าพนักงานได้เตรียม การแต่งสถานที่นั้นพร้อมเสร็จ ได้เชิญพระพุทธรูปของ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี ซึ่งประดิษฐาน อยู่ในพระอุโบสถวัดนั้นไปตั้งบนม้าหมู่ในห้องกลางตึกโรงเรียน พร้อมด้วยเครื่องสักการะบูชา ครั้น ณ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๑ พระสงฆ์วัดเทพศิรินทราวาส ๑๐รูปเจริญพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นวันที่ ๑๖พฤษภาคมร.ศ.๑๓๑ เวลาเช้าโมงครึ่ง พระสงฆ์ฉัน ครั้นเวลา เช้า๒โมงกับ ๒๖นาท ีได้ฤกษ์ประโคมดุริยดนตรี นักเรียนตั้งแถวอยู่ในสนามบ่ายหน้าสู่พระราชวังดุสิต กระทำวันทยหัตถ์เจ้าพระยาพระ เสด็จสุเรนทราธิบดีถวายคำนับต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วชักแพรเปิดนามตึกเยาวมาลย์อุทิศ และท่านได้สอนนักเรียนให้เป็นปฐมฤกษ์