เตือนนักเรียนใช้โปรแกรม สอท.คิดแอดมิชชั่น


 บันทึกโดย Admin  15 เม.ย. 2556

เตือนนักเรียนใช้โปรแกรม สอท.คิดแอดมิชชั่น

          นางศศิธร อหิงสโก ผู้จัดการสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 4-21 เม.ย.นี้ สอท. เปิดรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่นกลาง ปีการศึกษา 2556 จากข้อมูล ณ วันที่ 13 เม.ย. พบว่า มีนักเรียนเข้ามาสมัครแอดมิชชั่นแล้ว จำนวน  31,003 คน แต่ชำระเงินเพียง 1,933 คน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะนักเรียนส่วนใหญ่จะสมัครและชำระเงินช่วงหลังสงกรานต์ หรือก่อนปิดรับสมัคร แต่ตนไม่อยากให้นักเรียนแห่ไปสมัครช่วงนั้น เพราะถ้ามีปัญหาจะแก้ไขไม่ทัน นอกจากนี้อยากให้นักเรียนคำนวณคะแนน เพื่อเลือกคณะที่จะเข้าศึกษาต่อโดยใช้โปรแกรมการคำนวณของ สอท. ทาง www.cuas.or.th
          "โปรแกรมการคำนวณของ สอท. เป็นแนวทางการคำนวณคะแนนเบื้องต้น โดยใช้ข้อมูลเท่าที่นักเรียนกรอกมาให้ และถึงแม้จะคำนวณคะแนนได้แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถสมัครในคณะ/ประเภทวิชานั้นได้ ดังนั้นนักเรียนต้องตรวจสอบคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละคณะ/ประเภทวิชาที่ต้องการจะสมัครกับระเบียบการรับสมัครคัดเลือกฯด้วย เช่น เกณฑ์ขั้นต่ำ วิชาที่ต้องใช้ในการรับสมัคร เป็นต้น โดยต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนที่จะสมัคร เพื่อจะได้ไม่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นภายหลัง" นางศศิธรกล่าว
          นางศุทธินี งามเขตต์ ผอ.กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวถึงกรณีที่ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน หรือเอ็นเน็ต ประจำปีการศึกษา 2555 ที่ออกมาพบว่า คะแนนเฉลี่ยแต่ละวิชาค่อนข้างต่ำ ทั้งระดับประถม,ม.ต้น, และ ม.ปลาย โดยเฉพาะวิชาสาระความรู้พื้นฐาน ว่า กศน. กำลังทำการวิเคราะห์ผลคะแนนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงอยู่ และจะมีการประชุมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน กศน.ในราวเดือน พ.ค.นี้
          ส่วนกรณีที่นักศึกษา กศน. ขาดสอบทุกระดับชั้นมากถึงร้อยละ 30 นั้น นางศุทธินีกล่าวว่า ถึงแม้ว่าการสอบเอ็นเน็ตจะมีผลต่อการจบของผู้เรียน กศน. และจะมีการย้ำว่าสถาบันทดสอบทางการศึกษาจะจัดสอบให้แค่ปีละครั้งเท่านั้น แต่เราก็ไม่สามารถบังคับให้เข้าสอบได้ทุกคนหากมีภารกิจเขาก็จะไม่มาสอบ อย่างไรก็ตามทาง กศน. ได้หาทางออกให้แก่ผู้ที่ไม่ได้เข้าสอบเอ็นเน็ต ด้วยการจัดสอบอี-เอ็กแซมให้ โดยจ้างมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทำข้อสอบซึ่งมีมาตรฐานและตัวชี้วัดเดียวกับข้อสอบเอ็นเน็ต

ที่มา : http://www.moe.go.th

ผู้เข้าชม : 1433