ศึกษาเล็ง เลิก ''รับตรง'' ส่อเค้าวุ่น เห็นต่างอื้อ


 บันทึกโดย Admin  16 ก.ย. 2556








จากกรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง "การพัฒนาระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อ 14 กย. ว่าตนมีนโยบายเร่งรัดการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบ ส่วนหนึ่งที่จะทำให้การปฏิรูปสำเร็จได้ ต้องปรับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากการจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ที่ผ่านมาการคัดเลือกยังมีปัญหามาก โดยเฉพาะการรับตรง ที่ทำให้ผู้ปกครอง และนักเรียนเสียค่าใช้จ่ายในการสอบจำนวนมาก



บางคนเสียค่าสมัครสอบเป็นแสนบาท โดยที่ยังไม่รวมค่ากวดวิชา ขณะที่มหาวิทยาลัยบางแห่งได้รับเงินจากการเปิดรับตรงหลายสิบล้านบาท ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าศึกษาต่อ ดังนั้น จะต้องปรับระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันการออกข้อสอบจะต้องอิงหลักสูตร เพราะปัจจุบันข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยออกเกินหลักสูตร ทำให้เด็กทิ้งห้องเรียน หนีไปกวดวิชา

ที่มา : http://www.matichon.co.th



นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ทปอ.เปิดเผยกรณีที่สมาคมสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (สอท.) ระบุว่า "ที่ สอท.ขอให้ ทปอ.ยกเลิกรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์นั้น ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหา และ ทปอ.เองพบว่ารับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์เป็นไปด้วยดี แก้ปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบได้ และมหาวิทยาลัยคัดเด็กได้ตรงตามความสามารถ ซึ่งผมไม่อยากเปลี่ยนระบบกลับไปกลับมา จึงคิดว่าใช้รับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ไปอีกระยะหนึ่ง และหากพบว่าเป็นระบบที่ทำให้เกิดปัญหาจริง ก็พร้อมยกเลิก ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทปอ.ขอความร่วมมือมหาวิทยาลัยรัฐให้เปิดรับตรงไม่เกิน 50% ซึ่งส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่ยอมรับมีหลายแห่งเปิดรับตรงมากขึ้น เช่น เดิมรับตรง 10% แต่เมื่อรับได้ไม่เต็มตามเป้า ก็ขยายเป็น 30% แต่พยายามไม่ให้เกิน 50% ทั้งนี้ ต้องยอมรับการที่มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงมากขึ้น มหาวิทยาลัยเอกชนจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีค่านิยมอยากเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐมากกว่า ซึ่ง ทปอ.รู้ปัญหามาโดยตลอด แต่ใช่ว่าการแข่งขันจะเกิดระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชนเท่านั้น ระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐก็แข่งกันเองเช่นกัน แต่ละแห่งจึงควรแข่งกันที่คุณภาพ และปัญหาที่เกิดขึ้น สถาบันอุดมศึกษาเอกชนเล็กๆ คงต้องปรับตัว เน้นสอนสาขาที่ถนัด ไม่ใช่เปิดแข่งกันทุกสาขา เมื่อสาขาใดมีคนเรียนน้อย ก็ควรจะปิด เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองทรัพยากร" นายสมคิดกล่าว

ที่มา : http://unigang.com/Home



อธิการฯ แม่ฟ้าหลวง ยันระบบรับตรงเลิกไม่ได้ ชี้อย่าด่วนสรุปมหาวิทยาลัยหวังรายได้จากเด็ก-ผู้ปกครอง ติงครม.ไม่มีอำนาจสั่งเลิกระบบ แนะให้ ทปอ.รวมความเห็นอยากให้เด็กตัดสินใจ




วันที่ 15 ก.ย.รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดที่จะให้มีการยกเลิกการคัดเลือกระบบรับตรง ว่า คงเป็นไปไม่ได้ ต้องคำนึงข้อเท็จจริง เพราะทุกระบบมีที่มาที่ไป มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่อย่างเช่น จุฬาฯ ม.ธรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ไม่ว่าจะคัดเลือกระบบไหนก็มีนักเรียนอยากจะเข้า ขณะที่มหาวิทยาลัยขนาดกลางและเล็กจะทำอย่างไรหากไม่มีนักเรียนเลือกเข้าเรียน ดังนั้นระบบรับตรงจึงยังจำเป็นสำหรับมหาวิทยาลัยเหล่านี้

ทั้งนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าปัญหาคืออะไร อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่ามหาวิทยาลัยคัดเลือกหลายระบบเพื่อต้องการหารายได้จากการสอบ คงไม่มีมหาวิทยาลัยไหนมีเป้าหมายหารายได้บนความเดือดร้อนของเด็กและผู้ปกครอง ทั้งนี้หากจะมีการปรับระบบอยากให้เป็นหน้าที่ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.)ระดมความเห็นจากทุกฝ่ายรวมถึงเด็กผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่อยากให้ผู้ใหญ่ตัดสินฝ่ายเดียว แม้จะเป็นความปรารถนาดี อีกทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็คงไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสิน
ที่มา : http://www.kruthai.info




"ภาวิช" จี้สำนึกอธิการบดี เลิกระบบรับตรง

ศ.ดร.ทองโรจน์ ผู้ช่วยรมว.ศธ. กล่าวว่ามหาวิทยาลัยต้องสำนึกตัวเองก่อน อย่างการสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปัจจุบันถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นกระจกเงาสะท้อนอยู่แล้ว อย่าให้คนอื่นไปไปกระชากแรงๆ อย่างไรก็ดี ในส่วนร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ....ที่กำลังดำเนินการนั้น อาจต้องเพิ่มเติมหมวดว่าด้วยการรับเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา โดยจะต้องมีเงื่อนไขและรายละเอียดอะไรบ้าง คงต้องไปจัดทำ เพราะร่างพ.ร.บ.ฯจะระบุเพียงหลักการเท่านั้น อย่างต่อไปหากยังมีกรณีเด็กมีเงินแสนถึงเข้ามหาวิทยาลัยได้ ส่วนเด็กมีเงินพันมีโอกาสน้อยกว่า ตรงนี้จะถือว่าผิดหลักการแล้ว ฉะนั้นในเรื่องนี้ต่อไปจะมีกฎหมายมาดูแล” ศ.ดร.ภาวิช กล่าว

ที่มา : http://www.dailynews.co.th



ผู้เข้าชม : 1448