ชี้ สพฐ.เลื่อนเปิดเทอมเจอภัยธรรมชาติ


 บันทึกโดย Admin  26 ก.ย. 2556

ชี้ สพฐ.เลื่อนเปิดเทอมขัดวัฒนธรรม-เจอภัยธรรมชาติ 


"ภาวิช"ระบุเลื่อนตามอาเซียนไม่ใช่ประเด็น แนะแก้โจทย์พื้นฐานต้องเลื่อนตามหรือไม่



          เมื่อวันที่ 25 ก.ย.คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ผลกระทบ ทางเลือก และทางออกเกี่ยวกับการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนของสถานศึกษา ที่มุ่งเตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน โดย ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่ง ว่า ศธ.เห็นความจำเป็นการเตรียมพร้อมสู่อาเซียนปี 2558 จึงกำหนดกรอบแนวทางให้สถานศึกษาปฏิบัติ ซึ่งการเลื่อนเปิด-ปิดภาคการศึกษาก็เป็นเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้ เดิมการเปิด-ปิดภาคการศึกษาและการกำหนดระบบต่างๆ จะกำหนดให้สอดคล้องตามฤดูกาล คำนึงถึงความจำเป็นตามภูมิภาคของรัฐและประเทศ แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป การอยู่โดยการจำแนกตัวเองคงต้องเปลี่ยนไป เพราะเราต้องคบหากับประเทศอื่นๆมากขึ้น

          ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันระดับอุดมศึกษา ประเทศในอาเซียนกว่าครึ่งอาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย และบูรไน ขยับปฏิทินการเปิด-ปิดภาคเรียนตามชาติตะวันตกแล้ว และทราบว่าเร็วๆนี้ มีอีกหลายประเทศจะขยับปฏิทินตาม อาทิ ลาว กัมพูชา ขณะที่ไทยที่ผ่านมากลุ่มมหาวิทยาลัยสมาชิกที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ประกาศขยับปฏิทินการศึกษาจากเดือนมิถุนายน ไปเป็นเดือนสิงหาคม พร้อมกันทั้งหมดในปีการศึกษา 2557 แล้ว แต่กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ยังประกาศใช้ปฏิทินการศึกษาเดิม ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ประกาศให้โรงเรียนขยับปฏิทินการศึกษาจากเดิมออกไปอีก 1 เดือน จากเดือนพฤษภาคม ไปเป็นเดือนมิถุนายน โดยเริ่มในปีการศึกษา 2557 เช่นกัน แต่โรงเรียนเอกชน อาชีวศึกษาก็กำหนดปฏิทินอย่างหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเรากำหนดปฏิทินการศึกษาไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเป็นปัญหาต้องขบคิด หากปฏิทินการศึกษายังยุ่งอยู่อย่างนี้ ก็คงต้องมานั่งหารือกัน


          “ ขณะนี้การเลื่อนตามอาเซียนไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือ ควรเลื่อนตามมหาวิทยาลัยหรือไม่ ประเทศไทยคิดร่วมกันไม่เป็น ทปอ. ประกาศเลื่อนปฏิทินการศึกษาของตนไม่ปรึกษาใครทำเหมือนเป็นผู้ทรงอิทธิพล ทำให้สังกัดอื่นๆ ต้องคิดปรับเลื่อนตาม ขณะที่มีเด็กที่ตัดสินใจเรียนต่อในมหาวิทยาลัยมีเพียง 200,000 คน จากทั้งหมด 800,000 คน ดังนั้น เราต้องคิดถึงเด็กที่จะเรียนต่อในสังกัดอื่นๆ ด้วย” ศ.พิเศษ ภาวิช กล่าวและว่า ในอาเซียนยังไม่มีประเทศใดขยับปฏิทินการศึกษาของระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเลย แต่สพฐ.ประกาศขยับปฏิทินไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะเห็นอุดมศึกษาเริ่มขยับจึงขยับบ้าง แต่จริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องขยับตามอุดมศึกษาก็ได้ เพราะการมีเวลาว่างเพิ่มขึ้นระหว่างช่วงรอยต่อปิดเทอมนั้น ก็มีข้อดีว่า สามารถจัดระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาให้อยู่ในช่วงปิดภาคเรียนได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามวันนี้สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาของมหาวิทยาลัยที่เปิดสอบตรง บางสาขาเปิดสอบตรงตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 บางสาขาที่ดังเปิดสอบหลายๆรอบจนเป็นปัญหา ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าขาดสำนึกต่อสังคม


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการศึกษาของคณะนิสิตดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาบริหารการศึกษา (ในเวลาราชการ) รุ่นที่ 23 คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลกระทบทางเลือกและทางออกเกี่ยวกับการเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียนของสถานศึกษาที่มุ่งเตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” ระบุผลกระทบว่า การเลื่อนเปิดภาคระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการเลื่อนที่ไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ฤดูการท่องเที่ยว และวัฒนธรรมไทย เช่น ฤดูฝนไม่เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอน เพราะมีน้ำท่วม ช่วงรอยต่อเวลาปิดภาคเรียนที่ยาวนาน เป็นภาระต่อผู้ปกครองที่อาจไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน ส่วนข้อดีนั้น สามารถใช้ช่วงระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นเพื่อปรับระบบการสอบและสร้างความพร้อมให้แก่ผู้เรียนก่อนเข้าสู่ระบบอุดมศึกษามากขึ้น เป็นต้น


          ทั้งนี้ สำหรับปฏิทินการศึกษาปีการศึกษา 2557 ที่มีการประกาศขยับนั้น ได้แก่ มหาวิทยาลัย 27 แห่งที่เป็นสมาชิก ทปอ. ประกาศขยับเปิด-ปิดภาคเรียนที่ 1 จากเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เป็นเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ภาคเรียนที่ 2 เลื่อนจากเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เป็นเดือนมกราคม-พฤษภาคม ส่วนสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.ภาคเรียนที่ 1 เลื่อนจาก 16 พฤษภาคม-11 ตุลาคม เป็น 10 มิถุนายน-4 พฤศจิกายน ส่วนภาคเรียนที่ 2 เลื่อนจากวันที่ 1พฤศจิกายน-1 เมษายน เป็นวันที่ 26 พฤศจิกายน-26 เมษายน


ที่มา : http://www.dailynews.co.th

ผู้เข้าชม : 1864