ขยับสอบ O-NET/GAT/PAT หลังปิดเทอม 2


 บันทึกโดย Admin  11 ต.ค 2556

แนวคิด "ข้อสอบกลาง" นักวิชาการติงสุดโต่ง-สิ้นเปลืองงบฯ ไม่คุ้ม เพราะมาตรฐานเด็กต่างสังกัด ต่างพื้นที่ ควรให้เขตพื้นที่ฯ จัดสอบวัดมาตรฐานเอง ด้าน สทศ. ยังตอบไม่ได้ ข้อสอบกลางของ สพฐ.จะมีมาตรฐานอย่างไร แต่เตรียมประสาน ทปอ.ขยับการสอบ O-NET/GAT/PAT หลังปิดเทอม 2 

จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะฟื้นการจัดทดสอบวัดผลกลาง ในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั่วประเทศ โดยใช้ข้อสอบชุดเดียวกันในการสอบปลายภาค รวมทั้งกำลังปรับปรุงยกร่างระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการวัดผลประเมินผลการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อใช้ในปีการศึกษา 2557 จะมีผลให้มีการตกซ้ำชั้นในระดับประถมศึกษา 

เมื่อวันที่ 10 ต.ค.56 นายพฤกษ์ ศิริบรรณ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการทดสอบวัดผลกลาง ด้วยการใช้ข้อกลางระดับชาติทั่วประเทศ แต่ไม่น่าจะใช้ในทุกระดับชั้น เช่น ระดับชั้น ป.3 ม.3 และ ม.6 ที่มีการทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ก็ไม่ควรมีการใช้ข้อสอบกลางนี้ แต่ควรไปใช้ในระดับชั้นอื่นแทน และหากจะใช้ก็ควรทำเป็นปีเว้นปีจะดีกว่า 

นอกจากนี้ ข้อสอบกลางระดับชาติที่จะนำมาใช้ ควรจะปรับให้เป็นข้อสอบกลางของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแทน เพราะข้อสอบกลางระดับชาติมีข้อจำกัดที่จะสามารถวัดนักเรียนได้หลักสูตรแกนกลางเท่านั้น แต่ในปัจจุบันโรงเรียนมีหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนด้วย ซึ่งแต่ละแห่งก็อาจมีความแตกต่างกันตามบริบทของท้องถิ่น ดังนั้นข้อสอบกลางอาจจะไม่สามารถวัดในส่วนนี้ได้ นอกจากนี้การให้เขตพื้นที่ฯ ทำข้อสอบกลางเอง จะทำให้สามารถวัดประเมินผลที่แตกต่างกันได้ในแต่ละพื้นที่ 

"แนวคิดการให้ใช้ข้อสอบกลางของ ศธ.น่าจะเป็นเพราะโรงเรียนปล่อยเกรด จนมีผลต่อคุณภาพการศึกษา แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้อาจจะสุดโต่ง และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และผิดหลักการหากจะนำมาใช้ทุกระดับชั้นไม่คุ้มแน่นอน" 

อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า ส่วนแนวคิดที่จะให้มีการฟื้นซ้ำชั้น ตนไม่เห็นด้วย อยากให้มีมาตรการอื่นๆ ในการแก้ปัญหาในเรื่องคุณภาพการศึกษา และการปล่อยเกรดเฟ้อ ซึ่งการนำระบบซ้ำชั้นมาใช้อาจจะไม่ได้ช่วยอะไร แต่น่าจะใช้วิธีหากนักเรียนไม่ผ่านในรายวิชาใด ก็อาจให้สอบซ่อมในกรณีที่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์แต่ไม่แย่มาก แต่กรณีที่แย่มากๆ ก็ควรให้เรียนใหม่เป็นรายวิชา เพื่อเด็กจะได้ไม่ต้องเรียนซ้ำชั้น 





ด้านนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่ากรณีข้อสอบส่วนกลางที่ สพฐ.จะให้เขตพื้นที่ฯ หรือโรงเรียนไปจัดพิมพ์ข้อสอบเอง จะทำให้ข้อสอบมีมาตรฐานหรือไม่ เพราะคงต้องดูในรายละเอียดก่อน แต่เชื่อว่า สพฐ.ก็มีสำนักทดสอบทางการศึกษาอยู่แล้ว คงไม่น่ามีปัญหา 

ส่วนกรณีการเปิด-ปิดภาคการศึกษาของปีการศึกษา 2557 ที่ขณะนี้ได้สรุปให้สถานศึกษาสังกัด สพฐ. เปิดภาคการศึกษาที่ 1 ในวันที่ 16 พ.ค.เหมือนเดิม จนทำให้เด็กมีช่วงเวลาปิดเทอมของภาคเรียนที่ 2 นานมากขึ้นนั้น เรื่องนี้คงต้องไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่าจะมีช่องทางขยับการสอบต่างๆ ทั้งการทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) แบบทดสอบวัดความถนัดทั่วไป (GAT) และแบบทดสอบวัดความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) ได้เท่าใด 

"ทางสทศ.มองว่าการทดสอบต่างๆ ควรเป็นช่วงที่ปิดภาคการศึกษาไปแล้ว เพื่อให้เด็กมีเวลาเรียนในห้องเรียนเต็มที่เบื้องต้นคงต้องหารือกับหน่วยงานที่นำผลสอบเหล่านี้ไปใช้ ทั้งสพฐ.ในการนำคะแนน O-NET มาเป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่าจะสะดวกขยับการใช้ผลสอบหรือไม่ หากขยับได้ปฏิทินการสอบต่างๆ ก็จะขยับตามได้เช่นกัน" ผอ.สทศ.กล่าว 


ที่มา สยามรัฐ

ผู้เข้าชม : 1439