๒๓ ตุลาคม ๕๖ - วันปิยมหาราช


 บันทึกโดย Admin  22 ต.ค 2556

ความเป็นมา
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดทั่วขอบขัณฑสีมาปวงประชาราษฎร์ถือว่าพระองค์คือพระราชบิดาแห่งตนและ ประเทศชาติ รัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็นวัน “ปิยมหาราช” และเมื่อถึงวันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีจะมีการวางพวงมาลาดอกไม้ที่พระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ และสมเด็จพระเทพศิริน-ทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 พระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์” เมื่อพระชนม์ 9 พรรษาได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ ต่อมาอีก 4 ปี ได้เลื่อนเป็น “กรมขุนพินิตประชานาถ”

 
สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์

บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญพระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า เจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช
ระหว่างที่ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม ยิ่งกว่านั้นในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทย ให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืนและนั่งตามโอกาสสมควรไม่จำเป็นต้องหมอบคลาน เหมือนแต่ก่อน

 
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒

เมื่อมีพระชนมายุใกล้บรรลุนิติภาวะจึงได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นภิกษุ เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2416 และลาผนวช เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2416 แล้วโปรดให้มีการราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2416 เพื่อแสดงให้ประชาชนและชาวต่างประเทศทราบว่าพระองค์ทรงรับผิดชอบในการปกครอง บ้านเมืองด้วยพระองค์เอง

พระบรมราชานุสาวรีย์
รัชสมัยของพระองค์ เป็นรัชสมัยแห่งการปฏิวัติแทบจะทุกทาง เหตุนี้ประชาชนจึงพร้อมใจกันเรี่ยไรเงินสร้างอนุสาวรีย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระองค์ บังเอิญประจวบเหมาะกับพระองค์เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2450 ทรงพอพระทัยพระบรมรูปหล่อของพระเจ้าหลุยส์จึงขอให้พระองค์ไปประทับนั่งให้ ชาวฝรั่งเศสปั้น แล้วหล่อส่งเข้ามาในประเทศ โปรดให้ประดิษฐานไว้ ณ พระลานหน้าพระราชวังดุสิต ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปนี้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451
พระบรมรูปทรงม้านี้ ขนาดทั้งพระบรมรูปและม้า ทรงทำโตกว่าของจริงเล็กน้อย โดยหล่อด้วยโลหะชนิดทองบรอนซ์ พระบรมรูปประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนอันเป็นแท่นรองสูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาว 5 เมตร
ครั้นบรรลุอภิลักขิตสมัย รัชมังคลาภิเษก สัมพัจฉรกาล พระราชวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ราชบริพาร พร้อมด้วยสมณพราหมณ์ อาณาประชาชนชาวสยามประเทศทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์ ทั่วรัชสีมาอาณาเขต มาคำนึงถึงพระเดชพระคุณอันได้พรรณนามาแล้วนั้น จึงพร้อมกันสร้างพระบรมรูปนี้ ประดิษฐานไว้สนองพระเดชพระคุณเพื่อประกาศเพื่อเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปิยมหาราช ให้ปรากฏสืบไปชั่วกาลปวสาน เมื่อสุรยคติกาล พฤศจิกายนมาศ เอกาทศดิถีพุฒวาร จันทรคติกาล กฤติกมาศ กาฬปักษ์ ตติยดิถี ในปีวอก สัมฤทธิมา 41 จุลศักราช 1270 (ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451)

ซึ่งในวันปิยมหาราช หรือ วันที่ ๒๓ ตุลาคมของทุกปีนี้เอง
คณะผู้บริหาร ครู และนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ก็จะได้ร่วมกันวางพวงมาลาสักการะ
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ 
ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนเทพศิรินทร์ 

ที่มา : http://campus.sanook.com/927778/วันปิยมหาราช2

ผู้เข้าชม : 2241