8 วิธี ไม่ให้ เสียแต้มฟรี O-NET '57


 บันทึกโดย Admin  11 ก.พ. 2557


ก้าวใหญ่อีกก้าวที่ต้องข้ามผ่านคือการสอบ O-NET  จะสอบแล้ว เตรียมตัวกันไปถึงไหนแล้ว? ถ้าใครอยากรู้แนวข้อสอบ O-NET ก็ไปตามได้เลยที่ "แฉแหลก! แนวข้อสอบ O-NET ก.พ. 57 เรื่องไหนต้องอ่าน"

           แต่การรู้แนวข้อสอบอย่างเดียวบอกเลยว่า "ไม่พอ"  เหมือนเรารู้แค่ด้านเดียว แล้วก็อ่านไปตามที่ข้อสอบจะออก แต่จริงๆ แล้วการสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วนนะ ส่วนของคำถาม และส่วนของการตอบ ถึงแม้ว่าคำถามเราสามารถตอบได้ แต่เราตอบไม่ตรงกับรูปแบบที่ข้อสอบกำหนด บอกว่าเลยว่า "เสียแต้ม" แบบง่ายๆ เลย เรามาดักข้อสอบกันก่อนดีกว่า จะได้ไม่เสียแต้มไปแบบฟรีๆ

 


           เรื่องดีๆ ของข้อสอบ O-NET คือการที่ตัวเลือกใรข้อสอบมี 5 ช้อยส์จ้า ... ทำไมถึงเป็นเรื่องดี ก็เพราะว่าถ้าไปทำข้อสอบมหาวิทยาลัยก็จะเจอแต่แบบ 5 ช้อยส์ เป็นเรื่องดีๆ ที่ได้มองการณ์ไกลไว้แล้ว ฝึกไว้ตั้งกะ O-NET นี่เลย (ฮ่าๆ) แต่ข้อเสียคือโอกาสที่จะเดาถูกมันก็หายไป จากปกติมี 25% ก็เหลือแค่ 20% ซึ่งอาจจะมองว่าก็เป็นโอกาสปกติ แต่ถ้ามองกลับกัน โอกาสเลือกผิดมีถึง 80% เลยนะ ทีนี้ละตาโตเชียว 80% บ้าไปแล้ว

           การทำข้อสอบ O-NET อย่างแรกเลย ตัดช้อยส์ที่ไม่ใช่ไปก่อน ให้เปอร์เซ็นต์ในการตอบถูกเราเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าบางทีอาจจะโดนหลอกได้ นอกจากนี้ลองหาความเหมือนกันข้องช้อยส์ หรือความต่างจากพวกของช้อยส์ เพื่อที่จะได้ตัดทิ้งได้ เช่น ช้อยส์ ก. กับ ข. เหมือนกันเลย แค่เปลี่ยนคำ เราก็ตัดทิ้งทั้งคู่ หรือช้อยส์ข้อ ก. เป็นข้อเดียวที่ต่างจากพวก ก็เลือกเลย แต่ว่าขอให้วิธีการเดาเป็นทางสุดท้ายนะ ถือว่าขอร้อง (กระพริบตาปริบ ๆ)


 

           ขั้น Advance จากการเจอข้อสอบแบบ 5 ช้อยส์ คือการเจอ 6 ช้อยส์ แล้วไม่ใช่ธรรมดานะ เป็น 6 ช้อยส์ 2 คำตอบด้วย คือเราต้องตอบให้ถูกทั้ง 2 คำตอบ ไม่งั้นไม่ได้คะแนน ตรงนี้นักเรียน เสียคะแนนกันเยอะมาก แล้วที่เสียคะแนนบ่อยคือการที่ตอบได้คำตอบเดียว ส่วนอีกคำตอบผิด ก็เท่ากับผิดทั้งข้อ ไม่มีมาแบบคะแนนหารครึ่งเหมือนข้อสอบที่โรงเรียนนะ

           เพราะฉะนั้นนอกจากจะต้องเตรียมตัวมาอย่างดี ลองทำข้อสอบเยอะๆ แล้ว ก็ต้องอยู่ที่ดวงด้วย เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าข้อสอบแต่ละปีมาตรฐานความยากง่ายไม่เท่ากัน แต่คะแนนโดยรวมจะเกาะกลุ่มเสมอนะ เรื่องนี้สบายใจหายห่วง ถ้าสูงก็สูงไปด้วยกัน ถ้าต่ำก็ลงดิ่งไปด้วยกัน


 
  

           คงได้ยินสรรพนามคำว่า "Error 16 ช้อยส์" มาจากรุ่นพี่มาแล้วนะ  บางคนคงเคลียร์แล้วว่าคืออะไร แต่บางคนก็ไม่รู้ Error 16 ช้อยส์ มาจากข้อสอบ O-NET ภาษาอังกฤษ พาร์ท Error  ที่มี 16 ช้อยส์เพราะว่า เราต้องเลือกให้ถูกว่า ใน 4 ตัวเลือกที่โจทย์ให้มาข้อไหนผิดเป็น Step ที่ 1 ส่วนต่อมาเราต้องแก้ที่ผิดนั้นให้ถูกเป็น Step ที่ 2 โดยหน้าตาของกระดาษคำตอบจะเป็นแบบนี้
 

           เหมือนเป็นการทำ 2 เด้ง แล้วต้องถูกทั้งคู่ด้วยนะถึงจะได้คะแนน แน่นอนว่าเพราะ Error 16 ช้อยส์ เลยทำให้เราเสียแต้ม คะแนนดิ่งลงเหวอย่างกับโดดบันจี้จัมพ์ คือถ้าไม่รู้จริงบอกเลยว่าเดายาก ต้องแม่นแกรมม่ามาก ๆ เลย ถ้าใครคิดว่าพาร์ทนี้ไม่น่ารอดก็ต้องไปสู้กับพาร์ทอื่นแทนแล้วหล่ะ T_T ใครที่ยังงงๆ กับข้อสอบพาร์ทนี้ก็ไปอ่านเพิ่มได้เลยที่ "สูตรปราบ !! Error 16 ช้อยส์ (ตัวฉุด O-NET Eng)"

 

           ข้อสอบในส่วนของอัตนัยจะมีเพียงแค่วิชาเดียวคือ คณิตศาสตร์  แต่ว่าเป็นส่วนที่คะแนนเยอะเหมือนกัน มี 8 ข้อ ทั้งหมด 20 คะแนน แค่ลำพังปกตินั่นคิดแล้วหาคำตอบมาก็ยากอยู่แล้ว บางคนก็ต้องเสียแต้มฟรีๆ กับการที่ฝนแค่คำตอบอย่างเดียวอีก เพราะจริงๆ แล้วการฝนที่ถูกต้องคือต้องฝนทุกตำแหน่ง อย่างเช่นตัวอย่างในรูปเลย
 

           แล้วปัญหาของความผิดพลาดเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะผิดเป็นข้อๆ ไปนะ แต่ถ้าฝนผิดคือผิดทั้งยวง หายไปแล้ว 20 คะแนน ต้องระวัง ไม่ต้องสับสนว่าฝนแบบไหน จำไปเลยว่า O-NET ต้องฝนทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะตอบแค่ 2 หรือ0.25 ก็ต้องฝนครบ!!

 
  

           อะไรคือการตอบแบบสัมพันธ์กัน? อารมณ์เหมือนที่เป็นแบบ 6 ตัวเลือก 2 คำตอบเลย แต่ต่างกันที่การตอบแบบสัมพันธ์กันจะไม่ใช่ 6 ตัวเลือก แต่จะเป็นแบบว่าใน 1 ข้อ จะแบ่งเป็นคำตอบ 2 ทางคือทาง ก. และ ทาง ข. โดยแต่ละทางก็มีช้อยส์ 5 ข้อ ต้องตอบทั้งทาง ก. และ ข. ให้ถูก คำตอบต้องสัมพันธ์กันด้วย
 

           แนวการตอบเป็นเหมือนเดิมเลย ต้องตอบถูกทั้งคู่ถึงจะได้คะแนน ถ้าถูกข้อผิดข้อก็ศูนย์เลย ดักให้เสียแต้มกันแบบเห็นๆ ลำพังการเลือก 1 คำตอบใน 5 ช้อยส์ก็สับสนจะแย่อยู่แล้ว เห็นแบบนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมคะแนน O-NET มันถึงกราฟดิ่งลงทุกปี ทุกปี T_T

 
   

           ย้ำแล้วย้ำอีกกับการสอบ O-NET ว่ามีเวลาแค่วิชาละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น  บางคนชอบจำว่าเวลาเท่ากับการสอบ GAT PAT มัวแต่เอ้อระเหยลอยชาย สุดท้ายก็ทำไม่ทัน ผลของการทำไม่ทันคือเราก็พยายามฝนเท่าที่เวลามี ถูกหรือผิดไม่ต้องถามเลย เพราะไม่ได้อ่านโจทย์ด้วยซ้ำ ทำให้เราเสียแต้มไปฟรีๆ เพราะฉะนั้นคำนวณเวลากันดีๆ นะ บางสนามสอบไม่มีนาฬิกาให้ แนะนำให้นำนาฬิกาไปเองดีกว่า

 
   

           อันนี้เป็นประเด็นที่เจ็บมาก เจ็บมากมาก เจ็บมากที่สุด คือเป็นอะไรที่เข้าใจยากกับการใช้ดินสอกด แล้วซื้อไส้ดินสอที่เขียนว่า 2B มา แต่พอใช้จริงมันจะสีอ่อนกว่า 2B ดินสอไม้หนึ่งสเตป แล้วผลที่ตามมาจนต้องเสียแต็มไปคือ "เครื่องมองไม่เห็น เพราะไม่เข้มพอ"

            จริงๆ แล้ว  เองก็ชอบใช้ดินสอกดนะ รู้สึกว่าปลายแหลมสม่ำเสมอไม่มีทู่เหมือนใช่ดินสอไม้ แต่ไส้ดินสอที่ใช้คือต้องดีๆ หน่อยอะ เอาดินสอไม้มาฝนเทียบเลยว่าเข้มพอหรือเปล่า แล้วก็ต้องมีดินสอไม้ติดกระเป๋าไปด้วยสักแท่งสองแท่งเผื่อไส้ดินสอหมด เอาเป็นว่าใครที่ชอบใช้ดินสอกดเหมือนกันก็พกดินสอไม้ไปด้วยนะ เอาไว้ฝนทับให้สีเข้ม ๆ ก็ได้ อย่างน้อยก็เพื่อความปลอดภัยในคะแนน O-NET 

 
  

             การที่ทำข้อสอบแล้วไม่ฝนเนี่ย เป็น Human Error นะ ไม่ใช่ข้อสอบเลย แต่อะไรที่ทำให้เราเสียแต้มว่าเกี่ยวข้องกับการสอบหมด ปัญหาของเรื่องนี้คือการที่เราหาคำตอบแล้ว แต่ยังไม่ฝน จดไว้ที่ตัวข้อสอบเพราะเกรงว่าคนข้างๆ จะมองเห็นและลอกได้ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีป้องกันที่ดีนะ แต่ว่าก็มีอัตราเสี่ยงสูง เสี่ยงที่เรานี่แหละจะกาผิด

             มีวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้มาฝาก สำหรับคน ที่ชอบฝนทีเดียวหลังจากทำเสร็จ (ขอยกนิ้วให้เลย ทำไม่ได้ เมื่อยมากกกกกก) ขอแนะนำว่า ตอนที่ทำให้
ติ๊กเป็นสัญลักษณ์เล็กๆ ในช่องคำตอบของเรา โดยที่เรายังไม่ต้องฝน เอาแค่ให้เรามองเห็นนะ  เวลาที่ไล่ฝนทีเดียวจะได้ไม่ผิดขอ คะแนนก็ยังอยู่ เพื่อนข้างๆ ก็ลอกไม่ทันด้วย แต่ระวังด้วยนะว่าต้องเหลือเวลาไว้ฝนด้วย ฮ่าๆๆ


ข้อสอบ O-NET นี่เฮี้ยนจริงๆ นะ แล้วเป็นข้อสอบที่สอบได้รอบเดียวด้วย คะแนนไม่มีวันหมดอายุ ติดตัวเราไปตลอดยันชาติหน้าเลยล่ะ เพราะฉะนั้นขอให้ทำให้เต็มที่ เพราะ O-NET ต้องใช้ทั้งในรอบแอดมิชชั่นคิดเป็น 30% ของคะแนนทั้งหมด และสำหรับการสอบ กสพท. ที่ต้องคะแนนถึง 60% ถึงจะผ่านเข้าไปเรียนได้ 

ที่มา : http://www.dek-d.com/

ผู้เข้าชม : 14073