มธ.ค้าน จัดสอบรับตรงร่วมกัน


 บันทึกโดย Admin  30 พ.ค. 2557

'สมคิด' เชื่อ การจัดสอบรับตรงร่วมกันไม่รุ่ง หวั่นคัดเด็กไม่ได้ตามต้องการ ด้าน ทปอ. 22 มิย.เตรียมหารือในรายละเอียดในการจัดสอบ ขณะที่ กสพท.ยืนยันหากต้องเปลี่ยนแปลงการสอบต้องยึดผลประโยชน์ของเด็กเป็นหลัก



วานนี้ (29 พ.ค.) ศ.ดร.สมคิด  เลิศไพฑูรย์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และมหาวิทยาลัยต่างๆ เห็นร่วมกันว่า มหาวิทยาลัยจะรับตรงโดยวิธีการสอบในช่วงเวลาเดียวกัน และใช้ข้อสอบกลางร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2559 ว่า การสอบรับตรงร่วมกันไม่ใช่เรื่องง่าย และเชื่อว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะการรับตรง เป็นการแก้ไขข้อบกพร่องของการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง การรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิชชั่น ที่ไม่สามารถคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนได้ตามความถนัด ดังนั้นคณะต่างๆ จึงจัดสอบกันเอง ส่วนข้อสอบที่ใช้ในการคัดเลือกนั้น แม้จะเป็นคณะเดียวกัน แต่มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ออกข้อสอบไม่เหมือนกัน เพราะมีจุดเน้นต่างกัน และที่สำคัญจะไม่ใช้วิชาสามัญในการคัดเลือกแล้ว แต่จะใช้วิชาเฉพาะแทน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องบังคับให้เด็กสอบวิชาสามัญอีก

ด้าน ศ.นพ.อาวุธ ศรีสุกรี เลขาธิการกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กล่าวถึงกรณีที่ สกอ. ได้ขอให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หารือกับ กสพท. เพื่อขอให้คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อคณะแพทย์ศาสตร์ และทันตแพทย์ศาสตร์ ก่อนการจัดสอบอื่นๆ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานจากทปอ. แต่การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งคงจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุม กสพท. ปลายเดือนมิถุนายนนี้

ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม ประธานคณะทำงานแอดมิชชั่นฟอรั่มของทปอ. กล่าวว่า ในภาพรวมมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ขัดในหลักการ แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีสาขาวิชาที่หลากหลายมากกว่า 3,500 สาขา ดังนั้นหากต้องมีการจัดสอบร่วมกันจริง คงต้องหารือในรายละเอียดว่าจะจัดสอบอย่างไร โดยในการประชุมทปอ. วันที่ 22 มิถุนายนนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือด้วย.


ขอขอบคุณข่าวสาร/ข้อมูลดีๆ จาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ผู้เข้าชม : 1766