การแข่งขันโครงการอวกาศครั้งแรกของไทย ''THASA Contest''


 บันทึกโดย Admin  16 ก.ค. 2557

ครั้งแรกของไทยสำหรับการแข่งขันโครงงานอวกาศ
ที่โครงงานจะถูกส่งขึ้นอวกาศจริงๆ 

และโอกาสที่จะได้ไปบินในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง Zero G 
สำหรับทีมที่ชนะเลิศการแข่งขัน!!

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงปริญญาตรีทั่วประเทศ โดยขอเชิญส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งขัน Thailand Youth Space Ambassador Contest นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ส่งการทดลองขึ้นสู่อวกาศจริง ส่วนผู้ชนะเลิศจะได้ขึ้นเที่ยวบินไปสัมผัสกับสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง (Zero G Flight) กับ พี่มิ้ง พิรดา เตชะวิจิตร์ นักบินอวกาศหญิงคนแรกของประเทศไทย


กติกาการแข่งขัน

เป็นนักเรียนนักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทย ระดับมัธยมปลายถึงปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ไม่จำกัดสาขา และคณะการเรียน
รวมกลุ่ม ทีมละไม่เกินสองคน (อาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลาย)
ระยะเวลาการพัฒนาโครงงานไม่เกิน 2 เดือน โดยตลอดการพัฒนาชิ้นงานจะมีการช่วยเหลือให้คำปรึกษาของรุ่นพี่นักวิชาการและวิศวกร นักเรียนนักศึกษาจะได้รับทุนพัฒนาโครงการทีมละ 10,000.- บาท และต้องส่งผลงานตามเวลาที่ระบุ
ทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) ของผลงานเป็นของนักเรียนนักศึกษาผู้พัฒนาโครงงาน ทั้งนี้ สทอภ. สามารถนำผลงานไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อการศึกษา และวิจัย ได้
โครงงานที่ทำจะต้องเป็นโครงงานที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์
เป็นโครงงานที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายเกินสมควร และไม่ผิดศีลธรรม
การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

การแข่งขันรอบที่ 1

การแข่งขันรอบแรก ให้แต่ละทีมส่งข้อเสนอโครงงานในหัวข้อ “นำการทดลอง…ขึ้นสู่อวกาศ” พร้อมให้เหตุผลที่จะส่งการทดลองนั้นขึ้นสู่อวกาศ ชิ้นงานการทดลองต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 1 kg โดยไม่จำกัดขนาดและหัวข้อโครงงาน สำหรับโครงงานที่ได้รับการคัดเลือกจะถูกส่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อไปทดลองจริง ที่ความสูง 30 km เหนือระดับน้ำทะเล ในชั้นบรรยากาศสตาโตสเฟียร์ ซึ่งมีสภาพที่เป็นอวกาศ ด้วยระยะเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง

โครงงานของนักเรียนจะถูกผูกไว้กับส่วน Payload เพื่อส่งขึ้นสู่อวกาศ
โดยสภาวะที่ความสูงเหนือพื้นดิน 30 kmมีสภาวะคล้ายคลึงอวกาศ ดังนี้

ไม่มีอากาศ ทำให้ไม่มีแรงต้านอากาศ และไม่มีความดันบรรยากาศ (น้อยกว่า 10 mBar)
ไม่มีการลดทอนหรือรบกวนของแสงจากชั้นบรรยากาศ
 มีความเข้มของพลังงานแสงอาทิตย์สูงกว่าบนพื้นโลกมาก
รังสี UVA, UVB และ UVC เข้มข้นสูง
มีการแผ่รังสีสูงเมื่อเทียบกับพื้นโลก
อุณหภูมิต่ำสุด -60 องศาเซลเซียส
สภาวะเทียบเท่ากับดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจร แต่ยังคงอยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลก

ดาวน์โหลดใบสมัครและอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

(รับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 31 สิงหาคม)





ผู้เข้าชม : 1619