กุหลาบแห่งแผ่นดิน วรรณกรรมประจำเขต


 บันทึกโดย Admin  01 พ.ย. 2557

“กุหลาบแห่งแผ่นดินวรรณกรรมประจำเขตฯ”

ครูยุพา  เผ่าสุขถาวร

กรุงเทพมหานครจัดกิจกรรม “ตามรอยอารยวรรณกรรม” ตามโครงการ เท่-เหนือ-ไทย 1 เขต 1วรรณกรรมกรุงเทพมหานคร  มอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่นักเขียนเจ้าของผลงาน พร้อมทั้งยกย่องผลงานให้เป็นวรรณกรรมประจำ50 เขตของกรุงเทพมหานคร

กิจกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายให้มี“1 วรรณกรรมประจำเขต” กำหนดพิจารณาจากวรรณกรรมประเภทนวนิยายและสารคดีโดยให้แต่ละเขตส่งวรรณกรรมประจำเขตเข้าประกวดทั้งนี้ต้องเป็นวรรณกรรมที่คนในเขตนั้นๆนิยมอ่าน  คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมดำเนินการ     คัดกรองให้เหลือ 100 เรื่องจากนั้นนักศึกษาวิชาเอกภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยต่างๆและคนในเขตคัดเลือกอีกครั้งจนได้ข้อสรุปวรรณกรรมแต่ละเขต

ลักษณะของวรรณกรรมประจำเขต  ความหมายที่กำหนดคืองานเขียนของนักเขียนไทยที่เป็นนวนิยายหรือสารคดีในยุคใดสมัยใดก็ได้โดยต้องมีฉากหรือตัวละครอยู่ในเขตนั้นแต่หากเขตใดไม่มีงานเขียนประจำเขตก็ต้องคัดสรรวรรณกรรมที่ใกล้เคียงกับเขตนั้นที่สุด

กรุงเทพมหานครจะจัดซื้อวรรณกรรมเรื่องละ500 เล่มไว้ในห้องสมุดกรุงเทพมหานครจากนั้นจะส่งเสริมให้คนในเขตนั้นๆอ่านหนังสือประจำเขตของตนเพื่อให้ผู้คนได้ค้นหา          อารยวรรณกรรมทางด้านวรรณศิลป์ ปรัชญาวิธีคิดและบริบทของสังคมในเขต

สำหรับเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายที่เป็นเขตที่ตั้งของโรงเรียนเทพศิรินทร์กรุงเทพมหานคร ได้ประกาศให้วรรณกรรมกุหลาบแห่งแผ่นดิน ของชมัยภร แสงกระจ่างเป็นวรรณกรรมประจำเขตกุหลาบแห่งแผ่นดิน เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานครบชาตกาล100 ปีศรีบูรพา

วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้เริ่มเรื่องตั้งแต่กำเนิดศรีบูรพา(กุหลาบ สายประดิษฐ์) และจบเรื่องด้วยฉากงานพิธีเฉลิมฉลองวันครบรอบชาตกาล 100 ปี ศรีบูรพา 31 มีนาคม 2548       มีเนื้อหาทั้งสิ้น 19 ตอน และมีบทส่งท้ายชื่อตอน“อวสานศรีแห่งโลก”

เนื้อหาบางตอนได้กล่าวถึงชีวิตของกุหลาบสายประดิษฐ์ ในช่วงที่ศึกษาในโรงเรียน     เทพศิรินทร์ตอนที่ 2 ได้เล่าถึงจุดเปลี่ยนด้านการศึกษาในวัยเด็กของกุหลาบไว้ดังนี้“เด็กชายกุหลาบ...ยกมือไหว้ขอบคุณในใจปลาบปลื้มกับการที่ได้เข้าโรงเรียนที่จะได้วิชาความรู้ทั่วไปมากกว่าการฝึกทหาร การอยู่เวรยามโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์เขานึกกระหยิ่มอยู่ในใจ โรงเรียนอยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนักและเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงขจรขจายว่าครูดีและนักเรียนดี”

เนื้อหาตอนที่3 ชื่อตอน ลูกแม่รำเพยก็เริ่มเรื่องอย่างชวนติดตาม “พ.ศ.2462 เด็กชายกุหลาบสายประดิษฐ์ ได้เข้าเรียนชั้นมัธยม 2 ที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์โรงเรียนที่สร้างความตื่นใจให้กับเด็กชายวัยสิบสาม ตั้งแต่ก้าวแรกเริ่มตั้งแต่ริมถนนหน้าโรงเรียน เขาเห็นรั้วเหล็กสีชมพูปลายแหลม กับประตูเหล็กบานใหญ่ที่เปิดอ้าออกเต็มที่...เขาสังเกตว่าที่ริมรั้วโรงเรียนมีต้นไม้ประจำโรงเรียนที่เรียกว่าต้นรำเพยที่เรียงรายอยู่โดยรอบ “ลูกแม่รำเพย” เขานึกถึงคำเรียกเด็กนักเรียนเทพศิรินทร์แล้วอดยิ้มไม่ได้ “มันฟังน่ารัก และมีเสน่ห์อย่างบอกไม่ถูก” สีเขียวเหลืองซึ่งเป็นสีประจำโรงเรียนก็ทำให้เขารู้สึกร่าเริงขึ้นมาทันที

ผู้เขียนมีกลวิธีนำเสนอความเป็นไปของสังคมเทพศิรินทร์ได้อย่างแยบคาย“เขาเดินจนถึงตึกที่มีตัวอักษรสลักบนปูนว่า แม้นนฤมิตร เมื่อเดินไปบนอาคารเขาออกจะตื่นเต้นกับบันไดใหญ่ซ้ายขวา ที่จะนำนักเรียนไปสู่ชั้นบน เขาแลเห็นพวกนักเรียนขึ้นลงบันไดด้วยอาการคล่องแคล่วบ้างกระโดด บ้างวิ่ง หน้าตาล้วนอิ่มเอม ร่าเริง ดูสง่าภาคภูมิ และเต็มไปด้วยความสุขสมบูรณ์”และ “เขาพิศวงที่ได้เห็นรายนามบิดาของนักเรียนเหล่านั้น มีทั้งเป็นขุนนางที่เป็นเชื้อพระวงศ์ และเป็นนายนั่น นายนี่ ซึ่งเป็นคนธรรมดาสามัญคละกันไปรวมทั้งนามที่แสดง เชื้อสายว่าเป็นชาวจีนด้วย...รายชื่อที่ปรากฏบนผนังเป็นกำลังใจอย่างหนึ่งของเด็กชายกุหลาบวัย 13 ปี เขารู้สึกสบายใจที่แม่ของเขาเป็นเพียงช่างตัดเย็บเสื้อผ้าคนหนึ่ง”

ชมัยพรแสงกระจ่าง ไม่ละเลยที่จะบอกเล่ากีฬายอดนิยม ของเหล่าลูกแม่รำเพย “ฟุตบอลดูจะเป็นหัวใจของเทพศิรินทร์ทุกคนในตอนกลางวันและตอนเย็น...จะมีเด็กนักเรียนออกไปเตะฟุตบอลอยู่กลางสนามเต็มไปหมด กุหลาบมักออกไปเตะบอลกับเพื่อนๆที่สนามเช่นกัน”

ด้วยถ้อยคำเพียงไม่กี่คำผู้เขียนก็สะท้อนภาพของนักเรียนเทพศิรินทร์ได้อย่างแจ่มชัด “ครูประจำชั้นโล่งใจว่าเด็กชายกุหลาบเป็นคนดีสุภาพ เรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตนและขยันหมั่นเพียรทั้งยังชอบเข้าห้องสมุดเป็นประจำอีกด้วย”

 ในตอนที่ 3 นี้ จะมีภาพประกอบเรื่องเป็น ภาพกุหลาบสายประดิษฐ์ แต่งเครื่องแบบนักเรียนเทพศิรินทร์ และภาพตึกแม้นฯ ที่มีต้นมะฮอกกานีเรียงรายอยู่หน้าตึก

ขอเชิญชวนนักเรียนเทพศิรินทร์ทุกคนเข้าห้องสมุดโรงเรียนอย่างที่กุหลาบสายประดิษฐ์เคยทำ ไปอ่านหนังสือกุหลาบแห่งแผ่นดิน ไปเรียนรู้ชีวิตนักเขียนลูกเทพศิรินทร์คนหนึ่งซึ่งในวันนี้ได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

ทว่าก่อนที่จะอ่านนักเรียนคงจักต้องภูมิใจก่อน ภูมิใจในรุ่นพี่คนนี้และภูมิใจที่นักเรียนได้อยู่ในสังคมการเรียนรู้ที่เสมอภาค ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์

โรงเรียนที่กุหลาบสายประดิษฐ์ นำเสนอผ่านนวนิยายแลไปข้างหน้า(หนึ่งในหนังสือร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน) ไว้ว่า “เมื่อเด็กๆได้ถูกปล่อยให้ลงสู่สนามแห่งการแข่งขันที่เขาได้รับโอกาสเท่าเทียมกันแล้วปัญญาและความดีงามนานาประการก็อาจคลี่คลายออกมาได้จากทุกคนโดยไม่จำกัดว่าต้องมาจากที่ใด”

....................................................................................



>>บทความกุหลาบแห่งแผ่นดิน วรรณกรรมประจำเขตฯ<<





ที่มา    วันอาทิตย์ที่ 26 ตุลาคม 2557

ผู้เข้าชม : 2713