''ระบบรับตรงร่วมกัน'' ปีการศึกษา 2559 ใช้ข้อสอบกลาง ''วิชาสามัญ 9 วิชา''


 บันทึกโดย Admin  29 ต.ค 2557



วันนี้(26 ต.ค.57) ภายหลัง การประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5/2557 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) รักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) เผย ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) มีมติเห็นชอบให้มหาวิทยาลัยสมาชิกทั้ง 27 แห่ง ใช้ “ระบบรับตรงร่วมกัน” ในปีการศึกษา 2559 โดยใช้ “ข้อสอบกลาง” ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาผ่านระบบรับตรงของแต่ละมหาวิทยาลัย

 

            “ข้อสอบกลาง” ประกอบด้วย 9 วิชา คือ ข้อสอบวิชาสามัญ 7 วิชา ที่จัดสอบโดย สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทศ. อยู่แล้ว และให้มีการจัดสอบเพิ่มอีก 2 วิชา คือ วิชาคณิตศาสตร์ 2 และ วิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป เพื่อรองรับนักเรียนสายศิลป์ จากเดิมที่จะเน้นเฉพาะนักเรียนสายวิทยาศาสตร์ โดยนักเรียนสามารถเลือกสอบเฉพาะวิชาที่ใช้เป็นองค์ประกอบคะแนนคัดเลือก ในการสมัครเข้าศึกษาต่อ คณะ/สาขาต่างๆ ตามที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด ทั้งนี้นักเรียนไม่จำเป็นต้องสอบทุกรายวิชา หลังจากนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยจะไปกำหนดสัดส่วนและองค์ประกอบคะแนนคัดเลือก ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาผ่านระบบบรับตรงในคณะ/สาขาต่างๆ เพื่อประกาศให้นักเรียนทราบต่อไป

 

            นอกจากนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยยังสามารถนำ คะแนนการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ  GAT และ คะแนนการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ หรือ PAT และ คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ที่จัดสอบโดย สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทศ. มาใช้เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาผ่านระบบรับตรงของแต่ละมหาวิทยาลัยได้เช่นเดิม ทั้งนี้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ได้กำหนดช่วงเวลาการทดสอบต่าง ๆ ให้ใกล้กันแล้ว

            - การสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1 จัดสอบในช่วงเดือนพฤศจิกายน

            - การสอบ วิชาสามัญ 9 วิชา จัดสอบในช่วงเดือนมกราคม

            - การสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 2 จัดสอบในช่วงเดือนมีนาคม

            ในส่วนระบบโควตาและโครงการพิเศษต่างๆ เช่น การรับนักเรียนผู้มีความสามารถทางด้านกีฬา ดนตรี และศิลปวัฒนธรรม รวมถึงโครงการเด็กดีมีที่เรียน ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

            มหาวิทยาลัยสมาชิก ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) 27 แห่ง ประกอบด้วย

            - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
            - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
            - มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
            - มหาวิทยาลัยมหิดล
            - มหาวิทยาลัยศิลปากร
            - มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
            - มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช (การรับเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก)
            - มหาวิทยาลัยรามคำแหง (การรับเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก)
            - สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (ไม่มีการรับเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี)
            - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
            - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
            - สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
            - มหาวิทยาลัยบูรพา
            - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
            - มหาวิทยาลัยนเรศวร
            - มหาวิทยาลัยพะเยา
            - มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
            - มหาวิทยาลัยแม่โจ้
            - มหาวิทยาลัยขอนแก่น
            - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
            - มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
            - มหาวิทยาลัยนครพนม
            - มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
            - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
            - มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
            - มหาวิทยาลัยทักษิณ
            - มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

สรุปสาระสำคัญ

  

“ระบบรับตรงร่วมกัน” ปีการศึกษา 2559 คือ การใช้ ข้อสอบกลาง เช่น วิชาสามัญ 9 วิชา ,GAT/PAT ,ONET ของ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทศ. เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาผ่านระบบรับตรงของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยที่นักเรียนดำเนินการสมัคร โครงการรับตรงและการเลือกคณะ/สาขา กับ มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เปิดรับสมัครและดำเนินการสมัครการทดสอบ ข้อสอบกลาง เช่น วิชาสามัญ 9 วิชา ,GAT/PAT ,ONET กับ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สทศ.

 

ที่มา : https://www.facebook.com/ennthai

ผู้เข้าชม : 2713