นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู พ.ศ.2465


หม่อมหลวงชูชาติ กำภู (4 มกราคม พ.ศ. 2458-13 เมษายน พ.ศ. 2512) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนชลประทานวิทยา และวิทยาลัยการชลประทาน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจนถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
ในวันคล้ายวันเกิดของหม่อมหลวงชูชาติ วิทยาลัยการชลประทาน ได้กำหนดให้วันที่ 4 มกราคมของทุกปี เป็นวันงานพิธีไหว้ครู เพื่อระลึกถึงพระคุณของครู และพระคุณของหม่อมหลวงชูชาติ ผู้ก่อตั้งโรงเรียน


ประวัติ

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เกิดวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2448 ที่ตำบลสามยอด อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนโตของพลตรีพระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิต กำภู) และคุณหญิงผอบ สุรเสนา ได้รับพระราชทานนาม "ชูชาติ" จากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
หม่อมหลวงชูชาติ กำภู สมรสกับคุณหญิงโฉมศรี กำภู ณ อยุธยา ธิดาของมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร) และ คุณหญิงสว่าง พลเทพ


การศึกษา

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2457 เมื่ออายุได้ 9 ปี เรียนจบได้รับประกาศนียบัตรชั้นมัธยมบริบูรณ์ เมื่ออายุได้ 17 ปี และสอบชิงทุนได้รับทุนเล่าเรียนหลวงให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาที่โรงเรียนเซนต์ปีเตอร์ ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2466 เป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงเข้าศึกษาในวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อ พ.ศ. 2468 ศึกษาอยู่ 8 ปี จึงสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโททางวิศวกรรมโยธา ประกาศนียบัตรและปริญญาบัตรที่ได้มาจากมหาวิทยาลัยนี้คือ A.C.G.L., B. Sc. ทางวิศวกรรมโยธา D.IC. (Advanced Dipkoma of Impetial College) และปริญญาโท M.Sc. ในทางคอนกรีตและไฮโดรลิกส์ ในปี พ.ศ. 2472 ได้เข้าฝึกงานในด้านวิศวกรรมโยธาในกรมโยธาธิการของอังกฤษ 1 ปี จึงกลับประเทศไทยเข้ารับราชการในกรมชลประทาน เมื่อ พ.ศ. 2473
หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ได้อุปสมบท ณ พัทสีมาวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2482 โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญญาณวโร) เป็นอุปัชฌาย์ มีฉายาว่า ปัญญาวุโธ หลังจากปฏิบัติราชการในด้านกรมชลประทานและวิศวกรรมเรื่อยมา จนมีความรู้และประสบการณ์ในด้านดังกล่าวเป็นพิเศษ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิตในวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เมื่อ พ.ศ. 2505 และปริญญาชั้นสูงสุด คือ ปริญญาช่างชลประทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2506 ต่อมาได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา เมื่อได้สร้างเขื่อนภูมิพลแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2507

การทำงาน

หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เริ่มเข้ารับราชการนายช่างผู้ช่วยประจำกองที่ปรึกษา กรมชลประทาน ชั้นผู้ช่วยเซ็กชั่นแนลเอนจิเนียร์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2473 ได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอกในปีต่อมา จนเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการเรื่อยมาจนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2492 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี (วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2499 ถึง 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500) และยังคงเป็นอธิบดีกรมชลประทาน จากนั้นในปี พ.ศ. 2507 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ (วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2507 จนสิ้นสมัยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2512) และยังคงเป็นอธิบดีกรมชลประทาน ในช่วงนั้นยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ถึง 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510) อีกตำแหน่งหนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2512 ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาแห่งชาติอีก เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2512 และยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการอยู่จนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2512


หน้าที่ราชการพิเศษ

พ.ศ. 2491 เป็นกรรมการองค์การอาหารและเกษตรแห่งชาติ (ได้รับเลือกอีกในปี พ.ศ. 2495)
พ.ศ. 2494 เป็นกรรมการพิจารณาเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยาโดยใช้เงินกู้จากธนาคารโลก (ได้รับการแต่งตั้งอีกในปี พ.ศ. 2495 และ 2497)
พ.ศ. 2497 เป็นผู้ว่าการองค์การพลังงานไฟฟ้าลิกไนท์ และเป็นกรรมการพลังงานแห่งชาติ
พ.ศ. 2500 เป็นประธานกรรมการการไฟฟ้ายันฮี (จนถึง พ.ศ. 2507)
พ.ศ. 2502 เป็นกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (จนถึงแก่อนิจกรรม)
พ.ศ. 2503 เป็นประธานกรรมการชลประทานศึกษามูลนิธิ
พ.ศ. 2510 เป็นรองประธานกรรมการพัฒนาการเกษตร ในเขตโครงการคันและคูน้ำ
พ.ศ. 2511 เป็นผู้แทนประเทศไทยระดับรัฐมนตรีในคณะกรรมการประสานงานทางหลวงแห่งเอเชีย
พ.ศ. 2512 เป็นกรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ


บั้นปลายชีวิต

หม่อมหลวงชูชาติ กำภูได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในหัวใจตัน เมื่อวันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2512 รวมอายุได้ 64 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และพระราชทานโกศไม้สิบสอง และทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ตั้งแต่ถึงอนิจกรรม จนถึงวันบำเพ็ญกุศล 7 วัน พระราชทาน ณ บ้าน 1225 ถนนสุขุมวิท พระนคร