นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง

พระยามานวราชเสวี


พระยามานวราชเสวี (ปลอด) 

        พระยามานวราชเสวี (ปลอด) เกิดเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๓๓ ที่บ้านพระยา สุนทรานุรักษ์ (เนตร์) เป็นบุตรของพระอนันตสมบัติ (เอม) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลากับท่านเชื้อ ธิดาหลวงอุปการโกศากร (เวท วัชราภัย) และท่านปั้น ธิดาเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น)

        เจ้าจอมกุหลาบในรัชกาลที่ ๔ พี่สาวของ ท่านปั้นได้ขอท่านเชื้อไปเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่วัยเยาว์ และได้เลี้ยงดูอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ทำให้รู้จัก เจ้านายหลายพระองค์ เมื่อรัชกาลที่ ๔ เสด็จสวรรคต เจ้าจอมกุหลาบจึงได้กราบถวายบังคมลากลับไปอยู่กับเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ผู้เป็นบิดาที่สงขลา โดยได้พาท่านเชื้อไปด้วย ณ ที่นั้น ท่านเชื้อได้สมรสกับ พระอนันตสมบัติ (เอม) บุตรพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์)

        พ.ศ. ๒๔๓๗ ท่านเชื้อได้พาบุตรชายทั้งสอง คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร) และ พระยา มานวราชเสวี (ปลอด) ซึ่งในขณะที่มีอายุเพียง ๙ ปี และ ๔ ปี ตามลำดับ ละจากเคหะสถานที่สงขลา กลับมายังกรุงเทพฯ และนำทรัพย์สินส่วนตัวที่ได้รับมรดกจากเจ้าจอมกุหลาบมาตั้งเคหะสถานใหม่ที่บ้านท่านปั้น ผู้เป็นมารดาที่ถนนสีลม

        พ.ศ. ๒๔๔๓ ท่านเชื้อได้ส่งพระยามานวราชเสวี (ปลอด) เข้าเรียนที่โรงเรียนอัชสัมชัญ ตามอย่างเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร) แต่โดยที่เป็นลูกคนเล็กและไม่ปรารถนาจะให้จากไป จึงให้เป็นนักเรียน แบบเช้าไปเย็นกลับ ต่อมาได้รับความเมตตาจากเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อครั้งเป็นพระยา วิสูทธสุริยศักดิ์ ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการและอธิบดีกรมศึกษาธิการเป็นผู้ดูแลแนะแนวการศึกษา และให้ย้ายจากโรงเรียนอัสสัมชัญไปเข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นโรงเรียนชั้นประถม เรียนอยู่เพียง ๑ ปี ก็ให้ลาออกไปเข้าโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ มีนักเรียนจำนวน ๕๐ คน และมีครูฝรั่งที่ศึกษามาจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษถึง ๔ คน และครูไทยชั้นดีอีก ๖ คน ซึ่งเจ้าคุณวิสูทธเห็นว่าจะเป็นโอกาสได้รับการศึกษาและการอบรมที่ดีกว่า

        เมื่ออายุได้ ๑๗ ปี พระยามานวราชเสวี (ปลอด) สามารถสอบได้ทุนเล่าเรียนหลวงของกระทรวงธรรมการ เพื่อไปเรียนวิชาครู วิชาแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรรม อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วกลับมาสอนตามกระทรวงที่กำหนด แต่พระยามานวราชเสวี (ปลอด) กลับเลือกที่จะทำงานที่กระทรวงยุติธรรมอยู่ก่อน เพื่อเรียนวิชากฎหมายและมุ่งมั่นจะสอบแข่งขันไปเรียนต่างประเทศโดยทุนของกระทรวงยุติธรรมแทน

พระยามานวราชเสวี (ปลอด) จึงเริ่มรับราชการครั้งแรกเป็นล่ามแปลภาษาอังกฤษ ที่กระทรวงยุติธรรม ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และภายใน ๔ ปีต่อมาก็สามารถสอบกฎหมายไทยได้เนติบัณฑิต และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๖

        พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรมเดินทางไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียน Inner Temple จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้ปริญญา Barrister-at-Law และฝึกงานในสำนักงานกฎหมายของ Sir Huge Fraser นักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงของอังกฤษ

พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้กลับมารับราชการที่กระทรวงยุติธรรมในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยสมุหนิติศาสตร์ กระทรวงวัง และใน พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระมานวราชเสวี เป็นกรรมการสอบความรู้กฎหมายชั้นเนติบัณฑิต เป็นกรรมการที่ปรึกษาเนติบัณฑิตสภา ต่อมายังได้เป็นอาจารยที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม และเป็นกรรมการที่ปรึกษาสภากาชาด พ.ศ. ๒๔๖๔

        ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยามานวราชเสวี และในปีต่อๆ มาได้เป็น ผู้บังคับการโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลโบริสภาและศาลจังหวัดเขตพระนคร ตามลำดับ

        ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศกรุงเทพฯ อธิบดี กรมอัยการ และเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๗๐) และภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอนุกรรมการสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. ๒๔๗๖) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. ๒๔๗๗)

        ในสมัยรัชกาลที่ ๘ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานสภา ผู้แทนราษฎร (พ.ศ. ๒๔๗๙-๒๔๘๖ และ ๒๔๘๗-๒๔๘๙) เป็นสมุหพระคลังข้างที่ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

        พ.ศ. ๒๔๘๙ ในรัชกาลปัจจุบัน ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี (พ.ศ. ๒๔๙๒ ? ๒๕๑๗)

        ในด้านครอบครัว พระยามานวราชเสวี สมรสกับ ท่านผู้หญิงศรี ลพานุกรม ธิดาของนายเจริญ ลพานุกรม กับคุณเนียร (โปษยานนท์) มีบุตรด้วยกัน ๑ คน คือ ศ.วิรัช ณ สงขลา สมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงวุฒิเฉลิม (วุฒิชัย) และมีบุตร ๒ คน คือ (๑) นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา และ (๒) นายณัฐญาดา ณ สงขลา

        ในด้านสังคมสงเคราะห์ พระยามานวราชเสวี (ปลอด) เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ นายกสมาคมนักเรียนเก่าราชวิทยาลัย กรรมการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย กรรมการสภากาชาดไทย และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้สร้างตึกรักษาคนไข้หลังหนึ่ง ให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมเครื่องใช้และของอื่นๆ ตึกนี้มีชื่อว่า พระยามานวราชเสวีและท่านผู้หญิง เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้สร้าง อีกทั้งยังได้ตั้งกองทุนรักษาคนเจ็บไข้ ในโรงพยาบาล ๑ ทุน รวมทั้งกองทุนนิสิตแพทย์เรียนดีแต่ยากจน และกองทุนเพิ่มความรู้ในต่างประเทศแก่แพทย์และเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์อย่างยั่งยืนในระยะยาว

        พระยามานวราชเสวี (ปลอด) ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ สิริอายุรวม ๙๓ ปี ๗ เดือน 

                      

ตัวอย่างธนบัตรที่พระยามานวราชเสวี ลงนาม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง



จาก http://nasongkhla.com/