|
นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง
ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์
ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์
การศึกษา
เรียนชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ท.ศ. 9020 และจบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาโดยสอบได้คะแนนสูงเป็นอันดับ ที่ 3 ของประเทศแผนกวิทยาศาสตร์ ได้ทุนธนาคารแห่งประเทศไทยไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา, ศึกษาขั้นปริญญาตรีที่ Williams College, ศึกษาขั้นปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่ M.I.T.
การทำงาน
นายชัยวัฒน์ ทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรวม 25 ปี ได้เป็น ผู้ว่าการ นาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2541 เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รักษาการ) ในปี พ.ศ. 2539 และช่วยงานบริหารนโยบายเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลหลายชุด
นอกจากนั้นยังทำงานด้านการเงินการธนาคาร ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของธนาคารกรุงไทย ( 2547-2553) และเป็นรองประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( 2549-2551) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา ประธานคณะกรรมการเงินบริจาคเพื่อพัฒนาโรงเรียนเทพศิรินทร์อีกด้วย
จาก ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4266 |
แตกต่างจาก "ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์" อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ในวัย 64 ปี ที่กำลังสนุกกับการเสพงานศิลปะ โดยเฉพาะการวาดภาพ ดร.ปุ๊ให้เหตุผลเรียบง่าย แต่ได้แง่คิดว่า "...ศิลปะทำให้คนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (ครับ)"
ว่ากันว่า ดร.ชัยวัฒน์เป็นผู้ชายสองบุคลิก เวลาทำงาน "ดร.ชัยวัฒน์" คือ อาจารย์ผู้เคร่งขรึมและจริงจังกับหน้าที่ อดีตนักข่าวแบงก์ชาติเคยเมาท์ว่า สมัยเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ "อาจารย์ปุ๊" โคตร (ดุ) เลยค่ะ
แต่อีกหนึ่งบุคลิก ดร.ชัยวัฒน์ คือ "วินนี่ เดอะ ปุ๊" นักเขียนอารมณ์ดี เป็นหนอนหนังสือ คุยสนุก รักตุ๊กตาหมี และชอบเสพงานศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ แถมยังเป็นนักจัดกิจกรรมตัวยงอีก ต่างหาก อาทิ กิจกรรมวิชาการสถาบันพัฒนาตลาดทุน หรือ วตท. "Tea Talk" ในหัวข้อที่น่าสนใจ
หลังจากหมดวาระประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบัน ดร.ชัยวัฒน์ เป็นกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) กิจกรรมที่ ดร.ปุ๊ ทำในระยะหลัง จะชักชวนเพื่อนพ้องน้องพี่ผ่อนคลายชีวิตด้วยงานศิลปะอยู่เสมอ
"...ผมชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็กครับ สมัยเรียนอยู่ต่างประเทศ ศิลปะก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียน เพราะเขาเปิดให้เรียนหลาย ๆ สาขา ผมก็เลือกเรียน Liberal Arts เยอะมาก ศิลปะ ดนตรี ประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือวรรณกรรม แต่ก็ไม่คิดว่าจะวาดรูปได้ (นะ) เพราะไม่คิดว่าตัวเองมีฝีมือ และยิ่งเห็นของดีมาก ก็ไม่กล้าวาด (หัวเราะ)" เขาให้เหตุผลประกอบ
ดร.ปุ๊เล่าเบื้องหลังการเริ่มต้นวาดภาพ ว่าด้วย...แบงก์ชาติ อาจารย์สมโภชน์ สิงห์ทอง และธนาคารกรุงไทย ว่า
"กระทั่งอายุ 60 สมัยทำงานธนาคารกรุงไทย ผมก็อยากกระตุ้นให้คนกรุงไทยใช้ชีวิตที่สมดุล คือนอกจากจะทำงานแล้ว อยากให้เขามีความละเอียดอ่อน มีความสุนทรีย์ในชีวิต ก็กระตุ้นให้เขาฟังเพลง วาดรูป ให้อ่านหนังสือ เพราะผมเชื่อว่า ศิลปะจะเติมเต็มชีวิตมนุษย์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น กระทั่งแบงก์กรุงไทยมีภาพวาดจนเปิดเป็นหอศิลป์ได้"
"แล้วส่วนตัว ผมรู้จักกับอาจารย์สมโภชน์ เพราะท่านเป็นครูสอนวาดภาพที่แบงก์ชาติ เลยชวนท่านว่า มาสอนให้คนกรุงไทยกันดีกว่า ท่านก็ตกลง เลยชวนคนที่ธนาคารกรุงไทย ทั้งผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน มาเรียนกัน 20 กว่าคน บรรยากาศสนุกมากครับ แต่แรก ๆ ผมไปจัดกิจกรรมให้อย่างเดียว ไม่กล้าเรียนและอาย ไม่อยากให้ใครเห็นฝีมือ เลยไปเป็นแค่กองเชียร์"
"ที่กรุงไทยก็ได้ผลดีมากเลย (นะ) พอคนมาเรียน เขาก็สนุก บางคนก็มีความสามารถไปฝึกต่อเอง หรือไปวาดนอกสถานที่ด้วยกัน แล้วก็มีการแสดงผลงานร่วมกัน ทุกคนก็ภูมิใจ เชื่อมั้ย หลายคนเมื่อถึงปลายปี ก็ทำไดอารี่บันทึก เอารูปที่ตัวเองวาดไปทำเป็น สคส. ทำเป็นโปสต์การ์ดแจกปีใหม่"
"จากนั้นไปเป็นกองเชียร์บ่อยเข้า บรรยากาศก็สนุก ก็คิดว่าอยากลองวาดเองบ้าง ก็รู้ว่าตัวเองวาดได้ แต่ส่วนหนึ่งเพราะครูสมโภชน์ท่านสอนเก่งมาก สอนจนผมรู้เบสิกการวาดรูปสีน้ำ รู้พื้นฐาน รู้เทคนิคว่าคืออะไร ตั้งแต่นั้นมาก็วาดรูปกับเขาได้ เป็นศิลปินมือสมัครเล่นครับ (หัวเราะ)
แต่เมื่อวาดไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่ามีสไตล์ส่วนตัว เช่น การใช้สี ผมจะใช้สีค่อนข้างใส หวาน แต่ภรรยาผมจะวาดรูปสีน้ำเข้มกว่า เขาจะเคลือบหลายชั้น บางครั้งวาดรูปเดียวกัน ลูกสาว (พิชชา วิบูลย์สวัสดิ์) บอกว่า รู้เลยไหนรูปพ่อ ไหนรูปคุณแม่ (หัวเราะ)"
ถามว่า ดร.ชัยวัฒน์เป็นคนหวานดั่งภาพวาดหรือไม่ ?
คำตอบคือ "...ไม่รู้สิ แต่ยังจำคำพูดของอาจารย์ชไมพร แสงกระจ่าง ได้ว่า ผมควรจะวาดรูป เพราะจะวาดได้ดี เพราะผมเป็นคนจิตใจดี ท่านบอกผมมาตั้งแต่อายุ 50 แต่ต้องยอมรับว่า ผมยังห่างไกลจากความเป็นศิลปินมาก (ครับ)"
ทุกวันนี้ หากมีใครชวนไปพูดคุยหรือบรรยายเรื่องวรรณกรรม เกี่ยวกับการอ่านหนังสือ หรือเรื่องศิลปะ ดร.ปุ๊จะรับงานอย่างไม่ลังเลใจ แต่หากเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ หรือเป็นเรื่องธุรกิจ ดร.ปุ๊บอกว่า เครียดเกินไป ขอ Say No จะได้ไหม
นอกจากนี้เกร็ดบางอย่างที่หลายคนอาจไม่เคยรู้ก็คือ ดร.ปุ๊ยังมีอาจารย์ดีด้านศิลปะ ซึ่งไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่เป็นภรรยา คุณพวงเพ็ญ วิบูลย์สวัสดิ์ นั่นเอง
"เผอิญผมมีติวเตอร์พิเศษที่บ้าน ซึ่งก็คือคุณกุ้ง ภรรยาผมเอง (ยิ้ม) เป็นสถาปนิกที่วาดรูปได้ ผมวาดอะไรไป เขาก็ช่วยแก้ไขให้ ก็เริ่มสนุกขึ้นมา รูปที่วาดก็เลยแตกต่างจากที่ครูสอน เราก็นำเทคนิคจากครูมาใช้ แต่ก็เลือกรูปเอง โดยมีภรรยาเป็นผู้แนะนำ ทุกวันนี้ ผมจึงเป็นมือวางอันดับ 3 ของบ้าน ต่อจากภรรยาและลูกสาว"
หลังจากนั้น ดร.ปุ๊ขยันวาดภาพอย่างต่อเนื่อง บางช่วงวาดได้ 5-6 ภาพ ภายใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ย 2 วันต่อ 1 ภาพ จนมีคนอยากได้ภาพไปประมูล
"พอมีคนรู้ว่าผมวาดเป็น ก็ขอให้ผมไปช่วยหน่อย บางงานส่งไป 2 รูป ประมูลได้ประมาณ 1 แสนบาท ก็ช่วยกันประมูล แต่เขินมากครับ เพราะรูปพวกนี้ ถ้าขายจริง ๆ คงแค่หลักพันเท่านั้นเอง แต่นี่คนช่วยประมูลให้"
"ปีที่แล้ว มูลนิธิกุมาร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เขาจัดประมูลเสื้อการกุศล ผมก็ระดมทุนไปช่วยเด็กที่มีโรคอย่างรุนแรง เช่น มะเร็ง โลหิตจาง ก็ใช้เงินเป็นล้าน เราก็เชิญศิลปินที่มีชื่อ ศิลปินแห่งชาติระดับอาจารย์ ก็ประมูลได้เป็นแสน แต่ก็มีคนบอกว่า ดร.ชัยวัฒน์วาดรูปได้ ให้เชิญมาด้วย เราเลยกลายเป็นศิลปินรับเชิญคนเดียวที่เขาเชิญ ผมก็เลยถามว่า ที่เชิญเพราะรู้ว่าวาดดี ไม่ดี ก็มีคนประมูลใช่มั้ย เขาก็ไม่ตอบ (หัวเราะ)"
"แต่ผลตอบรับก็ดีมากครับ รูปแรกได้เป็นหลักแสน ส่วนรูปที่สองเป็นรูปมุมสวน เป็นรูปสุดท้ายของงาน คนประมูลแข่งกัน 6 คน ซึ่งผมรู้จักส่วนตัวแค่ 2 คน ที่เหลือไม่รู้จักเลย แต่เขาอยากได้จริง ๆ ก็วิ่งไปตั้งแต่ 4 หมื่น ไปเรื่อย ๆ จนจบที่ 2 แสน เรียกว่าดีใจที่ช่วยการกุศล แต่อายมากที่ได้เงินเยอะขนาดนี้ จนคิดว่าจากนี้ไปจะไม่วาดรูปไปประมูลอีกแล้ว สงสารคนประมูลที่จะต้องให้เงินเยอะ ๆ (หัวเราะ)"
"หรือครั้งหนึ่ง มีการประมูลภาพเพื่อซีเอสอาร์ ก็ตั้งราคาหลัก 1,000 บาท, 2,000 บาท, 3,000 บาท, 7,000 บาท แต่ก็จะมีพวกช่วยเชียร์ อย่างผมหรือผู้บริหารหลายท่านก็ได้เป็นหมื่น ผมได้มากสุดก็ 40,000 บาท แต่ตั้งใจว่าจะไม่วาดภาพเพื่อประมูลอีก เพราะเขินครับ ผมไม่ใช่มืออาชีพ"
อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติบอกว่า ศิลปะให้ทั้งความสุขและสุนทรียะกับชีวิต และให้ข้อคิดว่ามีคนไว้เนื้อเชื่อใจเรา ที่จะมาร่วมทำประโยชน์ดี ๆ ให้สังคมร่วมกัน
"ผมเคยทำโครงการอ่านหนังสือให้แบงก์กรุงไทย จะต้องระดมทั้งเงิน ตู้หนังสือ ที่ผมคัดหนังสือดี 124 เล่มให้ ราคาก็ประมาณ 25,000 บาทต่อตู้ ก็ส่งไปได้ 100 กว่าโรงเรียน 150 กว่าตู้ ผมก็ใช้วิธีชักชวนคนอย่างนี้มาทำสิ่งดี ๆ ร่วมกัน นอกจากได้ผ่อนคลายกับศิลปะแล้ว ยังช่วยกันสร้างสิ่งดี ๆ ในสังคม อีกด้วย" เขากล่าวด้วยความภูมิใจ
เขายังบอกว่า สิ่งหนึ่งที่ได้ข้อคิดจากงานศิลปะ และพยายามจะบอกคนอยู่เสมอก็คือ สิ่งดี ๆ ในชีวิต ไม่มีคำว่าสายเกินไป ถ้าคิดที่จะเริ่ม
"ผมมักจะยกตัวอย่างว่า ผมมาเริ่มวาดรูปตอนอายุ 62 เขียนหนังสือวรรณกรรมตอนอายุ 50 แต่ว่ามันสะสมมาจากความชอบ ความสนใจอยู่ในตัว เวลาแนะนำเด็กนักเรียน นักศึกษา เรื่องการเรียนหนังสือ ในการสะสมความรู้พื้นฐาน ก็บอกว่า เรามีวิชาก็เรียนไปเถิดในแง่ของวิชาชีพ แต่ความรู้ พื้นฐานให้เราเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับสังคม เศรษฐกิจ หรือศิลปวัฒนธรรม ก็ต้องมีติดตัวไว้"
"บางคนคิดว่าเรียนไปไม่ได้ประโยชน์ ใช้ทำมาหากินไม่ได้ แต่จริง ๆ เป็นการทำให้เราเป็นคนที่สมบูรณ์ มีความเข้าใจหลายด้าน ทำให้ชีวิตมีความผ่อนคลาย มีความสุขขึ้น การอ่านหนังสือก็อ่านได้ตลอดชีวิต ถ้าเราสนใจศิลปะดนตรี ก็นำมาใช้ได้ ยิ่งเดี๋ยวนี้คนเราวัยสูงอายุมากขึ้น คนอาจจะต้องการความผ่อนคลายมากขึ้น ตอนนี้ผมเลยไปยุคนแบบนี้ (หัวเราะ)"
อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยให้มุมมองด้วยว่า ปัจจุบันชีวิตคนไทยมีความเครียดมากขึ้น เป็นความเครียดที่มากับสิ่งแวดล้อม การทำมาหากิน การแข่งขัน ปัญหาสังคมที่ซับซ้อน ปัญหาการเมือง หรือใครมีครอบครัว ความคาดหวังที่พยายามจะดูลูกหลานให้ดี ทั้งหมดเป็นแรงกดดันที่ทำให้คนเราต้องทำอะไรมากขึ้น ยิ่งลูกหลานไทยตอนนี้เกิดมากับเทคโนโลยีที่เยอะ ความคิด วิถีชีวิต ก็แตกต่างไปจากสมัยพ่อแม่ คนเป็นพ่อแม่ก็เครียดกับลูกไปด้วย
"ฉะนั้นถ้าคนเราดูแลตัวเองให้ผ่อนคลายได้ ผมคิดว่าชีวิตเราจะเป็นสุขขึ้น ถามว่าจะผ่อนคลายยังไง ก็คือจะต้องให้เวลากับ ตัวเอง อย่าไปคิดว่าทุกอย่างเป็นเรื่องการงาน มีเวลาให้กับตัวเองบ้าง หาอะไรที่สร้างความสนใจให้ตัวเองแล้วมีความสุขได้ เช่น การอ่านหนังสือ เล่นดนตรี ฟังเพลง ไปวาดรูป หรือดูงานศิลปะ
ยิ่งถึงจุดหนึ่ง เป็นการทำสมาธิที่ดีมาก เพราะเราเพลิดเพลินกับสิ่งที่เราวาด คล้ายกับตอนที่ผมเขียนหนังสือ ในนามวินนี่ เดอะ ปุ๊ มีบางครั้งรู้สึกว่า มีเรื่องอยากเขียน แต่ให้เราเหนื่อยแค่ไหน ดึกแค่ไหน ก็อยากจะทำให้มันจบ การวาดภาพก็เช่นกัน"
นี่คือสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ศิลปะสร้างสุข ในแบบฉบับ "ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์"