นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง

พระยาอรรถการีย์นิพนธ์


    พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ มีชื่อเดิมว่า สิทธิ จุณณานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2438 ที่ตำบลวัดทอง บางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของนายใต้เพ็ง จุณณานนท์ และนางสุ่น จุณณานนท์ ท่านได้สมรสกับคุณหญิงพร้อมเพรา อรรถการีย์นิพนธ์ (พร้อมเพรา ทวิพัฒน์) มีบุตรธิดาด้วยกัน 8 คน คือ
                     1. นางศิริโฉม สมานนท์
                     2. นางจิรดา โพธิ
                     3. นายแพทย์นิพนธ์ จุณณานนท์
                     4. นายวิฑูร จุณณานนท์
                     5. นายวิสุทธิ์ จุณณานนท์
                     6. นายอรรถ จุณณานนท์
                     7. นายบดี จุณณานนท์
                     8. นางศุภนิตย์ จุณณานนท์
                      พระยาอรรถการีย์นิพนธ์จบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ และได้เข้าศึกษาวิชากฎหมายต่อที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เมื่อ พ.ศ. 2460 ท่านสำเร็จการศึกษาสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต มีวิชาความรู้ทางด้านวิชากฎหมายและภาษาอังกฤษ
การทำงาน
                     พระยาอรรถการีย์นิพนธ์เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้พิพากษากระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2461 ในปี พ.ศ. 2462 ท่านไปรับราชการเป็นพนักงานอัยการ ท่านได้ทำงานด้วยความวิริยะอุตสาหะ อุทิศเวลาและทำคุณประโยชน์ให้แก่ราชการมาโดยตลอด ได้รับการเลื่อนขั้นตำแหน่งสูงขึ้นเป็นลำดับ ในปี พ.ศ. 2477 ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมอัยการ และในปี พ.ศ. 2488 ท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย ท่านได้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

                     พ.ศ. 2488 – 2490 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร
                     พ.ศ. 2490 – 2491 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
                     พ.ศ. 2491 – 2512 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
                     พระยาอรรถการีย์นิพนธ์เคยดำรงตำแหน่งในสภานิติบัญญัติ ในปี พ.ศ. 2491 ท่านได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกรัฐสภาให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และได้รับการเลือกให้เป็น
รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นกรรมาธิการจัดระเบียบวาระการประชุมของสภาร่าง
รัฐธรรมนูญ เป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถของท่านทางด้านกฎหมายรับใช้ชาติบ้านเมืองมาโดยตลอดด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและได้รับยศและบรรดาศักดิ์ในระหว่างรับราชการ ดังนี้
                     พ.ศ. 2462 เป็นรองอำมาตย์เอก
                     พ.ศ. 2463 เป็นอำมาตย์ตรี
                     พ.ศ. 2463 เป็นหลวงอรรถการีย์นิพนธ์
                     พ.ศ. 2466 เป็นอำมาตย์โท
                     พ.ศ. 2469 เป็นพระอรรถการีย์นิพนธ์
                     พ.ศ. 2471 เป็นอำมาตย์เอก
                     พ.ศ. 2473 เป็นพระยาอรรถการีย์นิพนธ์
ด้านงานพิเศษ
                     พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ได้ทำงานพิเศษหลายด้าน เช่น
                     1. เป็นกรรมการยกร่างประมวลกฎหมายอาญา และเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างประมวลกฎหมายอาญาของสภา
                     2. เป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา, กฎหมายอาญา, กฎหมายอาญาพิสดาร
                     3. เป็นกรรมการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
                     4. เป็นสมาชิกฝ่ายไทยในศาลประจำอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
                     5. เป็นประธานกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์
                     6. เป็นคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                     7. เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                     พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ได้ใช้วิชาความรู้ทางด้านกฎหมายประกอบวิชาทนายความ มีสำนักงานชื่อ “สำนักงานทนายความเสนีย์อรรถการีย์” ตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ในระหว่างปี พ.ศ. 2492 – 2501 ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านไม่ได้เป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการเมือง พระยาอรรถการีย์นิพนธ์เป็นนักกฎหมายซึ่งได้รับการยอมรับว่าแนวความคิดทางด้านกฎหมายของท่านเฉียบคม การมองปัญหาและขบปัญหาทางด้านกฎหมายของท่านมีมุมมองที่ต่างออกไป
นักกฎหมายด้วยกันมักคิดไม่ถึง เมื่อได้ฟังทรรศนะของท่านแล้วก็ต้องยอมรับว่ามีเหตุผลที่มี
น้ำหนัก ลีลาการร่างกฎหมายของท่านเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักกฎหมายว่าเป็นแบบฉบับที่ดี สั้น แจ้งชัด กระชับและรัดกุม ท่านพิถีพิถันมากในเรื่องการใช้ถ้อยคำและลีลาของภาษากฎหมาย ท่านมีแนวคิดเป็นประชาธิปไตย รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ความคิดเห็นในเชิงกฎหมายของท่าน ลึกซึ้ง สอดคล้องด้วยหลักกฎหมายและสามัญสำนึก ยากที่ผู้ใดจะท้วงติงหรือโต้แย้งได้
                     พระยาอรรถการีย์นิพนธ์เป็นผู้มองการณ์ไกลและมีแนวคิดริเริ่มในทางกฎหมายตลอดมา ท่านนำหลักการใหม่ ๆ มาใช้ในการร่างกฎหมายสำคัญ ๆ เช่น ธรรมนูญการปกครอง
ราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 มาตรา 20 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
                     “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย”
ด้วยผลของบทบัญญัติดังกล่าวนี้ทำให้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับที่ร่างขึ้นภายหลังปี พ.ศ. 2502 มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเป็นประโยชน์ต่อการตีความกฎหมาย สามารถนำหลักประเพณีมาใช้แก้ปัญหาในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติให้ครอบคลุมไปถึงอันเป็นเครื่องมือที่รัฐนำมาใช้ในการแก้ปัญหาทางการเมืองและการปกครองได้เป็นอย่างดี และนับเป็นครั้งแรกที่ท่านได้นำเอา
หลักประเพณีมาบัญญัติใช้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาก็ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านจนมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้
                     พระยาอรรถการีย์นิพนธ์มีผลงานที่ได้นิพนธ์ไว้ คือ หนังสือคำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาและหนังสือคำอธิบายกฎหมายอาญาพิสดาร ผลงานที่ท่านภาคภูมิใจมากที่สุด คือ ประมวลกฎหมายอาญา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 ซึ่งท่านเป็นผู้ยกร่างขึ้นในขณะดำรงตำแหน่งรองประธานสภาร่างรัฐธรรานูญ
                     สำหรับประมวลกฎหมายอาญาซึ่งท่านเป็นกรรมการผู้ยกร่างคนสำคัญที่เป็นหลักท่านหนึ่งนั้น ท่านได้นำหลักการใหม่เรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัย มาบัญญัติไว้ในกฎหมายและได้ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด
                     พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ได้ให้ข้อคิดที่สำคัญสำหรับข้าราชการคือ
                     ข้าราชการต้องบำเพ็ญตนอย่างเสือ จะต้ององอาจและให้เป็นที่เกรงขามทั้งในด้านความซื่อตรง และความคงแก่เรียนด้วย ท่านให้คำแนะนำว่า “…สิ่งที่ควรทำก็คือ หาข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด ยึดถือหลักกฎหมายและอดทนต่อความกดดันไว้แล้วก็จะคลี่คลายไปเอง…”
                     พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีคุณธรรม จริยธรรม ควรแก่การสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง
                     หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ได้กล่าวถึงท่านไว้ว่า “เมื่อ พ.ศ. 2489 ท่านเจ้าคุณ
พระยาอรรถการีย์นิพนธ์กับข้าพเจ้าร่วมกันจัดตั้งสำนักงานทนายความ
                นอกจากนั้น ท่านยังได้สร้างสรรค์ความเจริญทางด้านวัตถุให้แก่กระทรวงยุติธรรมเป็นจำนวนมาก จากบรรดาที่ทำการศาลยุติธรรมซึ่งเป็นเรือนไม้มาตั้งแต่เริ่มมีการปฏิรูปการศาลในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อท่านมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านได้ทำการพัฒนาปรับปรุงสร้างตัวอาคารที่ทำการศาลใหม่ ๆ ขึ้นทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ท่านสามารถของบประมาณในแต่ละปีเพื่อสร้างที่ทำการศาลได้ปีละกว่า 10 แห่ง อาคารศาลแพ่งและศาลฎีกาที่ติดต่อกับอาคารเดิมของกระทรวงยุติธรรมก็สร้างเสร็จเปิดทำการได้ในสมัยของท่าน
                     ในฐานะท่านเป็นรัฐมนตรี ท่านเคยคัดค้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอีกกระทรวงหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับงานของกระทรวงนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดังกล่าวแย้งว่างานนั้นเป็นเรื่องของกระทรวงของท่าน พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ก็ตอบโต้ว่า จริงอยู่ ที่เป็นงานของกระทรวงนั้น แต่เรื่องที่เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลงมตินั้น รัฐมนตรีทุกนายต้องรับผิดชอบร่วมกัน และรัฐมนตรีทุกนายย่อมมีสิทธิที่จะออกความเห็นด้วย มิฉะนั้นก็ไม่ควรให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อมีมติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้นจึงเงียบไป เรื่องนี้เป็นข้อควรคิดมิใช่เฉพาะงานระดับคณะรัฐมนตรีเท่านั้น งานระดับอื่น ๆ ก็ควรยึดหลักเดียวกันนี้
                     ศาสตราจารย์พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ ได้ปลูกฝังสร้างค่านิยมสั่งสอนให้ศิษย์มอง
คุณค่าของคนที่มีผลงาน และมีการนำหลักจริยศึกษามาอบรมศิษย์อยู่เสมอ ศาสตราจารย์วิกรม เมาลานนท์ กล่าวว่า :
                     “วิชาที่กระผมศึกษาจากท่าน คือ เรื่องหลักกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน สาระของวิชาที่ชัดถ้อยชัดคำและอากัปกิริยาของท่านในขณะสอนยังประทับใจและติดตากระผมอยู่จนบัดนี้ ในสัปดาห์ละครั้งที่ท่านมาสอน ท่านได้แบ่งเวลาจากเนื้อหาของวิชาออกบ้าง เพื่ออบรมบ่มนิสัยนักศึกษารุ่นนั้นให้มีจิตใจมั่นคงในหลักการทำงาน และการที่จะดำรงชีวิตสืบไปในเบื้องหน้า กระผมยังจำได้ทุกตอนสำคัญที่ท่านกล่าวกำชับศิษย์ของท่าน เช่น ในเรื่องหน้าที่ของบุคคล ท่านกล่าว่า ไม่ว่าจะเป็นคนกวาดถนน ภารโรง นิสิตนักศึกษา หรือแม้ข้าราชการผู้ใหญ่ ฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายประจำก็ตาม ต่างก็มีหน้าที่ของตนที่จะต้องปฏิบัติ ถ้าแต่ละคนทำหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนไม่ย่อหย่อน แต่ละคนก็ย่อมมีเกียรติตามฐานานุรูปของตนได้ ไม่ว่าระดับทางสังคมของเขาเหล่านั้นจะแตกต่างกันเพียงไรก็ตาม ท่านย้ำว่าค่าของการทำงานอยู่ตรงนี้” และ
                     “ท่านมิได้เป็นแต่เพียงครูบาอาจารย์ แต่ท่านบำเพ็ญตนประดุจพ่อที่ดีของศิษย์ มุ่งให้ศิษย์เดินถูกทาง ทำถูกวิธี เพื่อความเจริญของตนเองในเมื่อเติบใหญ่ และเพื่อความมั่นคงยืนยงถาวรของชาติบ้านเมืองไทย ในเมื่อศิษย์ของท่านจะเข้าสืบทอดความรับผิดชอบต่อไป…”
                     พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ได้ฝากข้อคิดในทรรศนะของท่านว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโลกนี้มีจริง การที่มนุษย์เราเกิดมาผิดแผกแตกต่างกัน มีทุกข์มีสุข มีความเจริญก้าวหน้าผิดกัน เป็นผลจากการกระทำของบุคคลนั้น ๆ เองในอดีตและในปัจจุบัน โดยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยสอดส่องบันดาลให้เป็นไป เหมือนมีคำพิพากษาติดตัวมาแต่กำเนิด”
                     ศาสตราจารย์พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ เป็นนักกฎหมายที่เคารพกฎหมาย ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่และอุดมการณ์ของวิชานิติศาสตร์ ไม่ยอมใช้ความเชื่อถือที่ผู้อื่นมอบให้และความช่ำชองทางกฎหมายในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิของตน พลิกแพลงข้อเท็จจริงและบทกฎหมายเพื่อประโยชน์โดยมิชอบแก่ตนหรือแก่ใคร นอกจากการใช้กฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อย ความถูกต้อง และความยุติธรรมของสังคมและบ้านเมืองเท่านั้น
                     ศาสตราจารย์พระยาอรรถการีย์นิพนธ์มีอัจฉริยภาพด้านกฎหมายอันสูงเด่นเป็นพิเศษเพื่อประโยชน์แก่สังคมและความมั่นคงของรัฐ ภายใต้หลักแห่งคุณธรรมและจริยธรรมอันสูงส่ง ท่านเป็นแบบอย่างของนักกฎหมายในอุดมคติผู้ยึดมั่นในหลักการเป็นปรมาจารย์ของวงการกฎหมายไทยที่ควรค่าแก่การสรรเสริญและเจริญรอยตาม
                     เครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดที่ได้รับพระราชทาน คือ มหาวชิรมงกุฎ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก เหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา และปฐมจุลจอมเกล้า ท่านมีโรคประจำตัว คือ โรคถุงลมในปอดโป่งพอง (Pulmonary Emphysema) ต้องเข้าบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลหลายครั้ง และได้ถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2520 ขณะมีอายุเกือบ 82 ปีบริบูรณ์ (ขาดเพียง 2 วัน) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพที่เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2521