นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง

นายธรรมนูญ เทียนเงิน


ธรรมนูญ เทียนเงิน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ดำรงตำแหน่ง
10 สิงหาคม พ.ศ. 2518 – 29 เมษายน พ.ศ. 2520

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
ดำรงตำแหน่ง
26 กันยายน พ.ศ. 2513 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด พ.ศ. 2473
จังหวัดชลบุรี
เสียชีวิต พ.ศ. 2551

นายธรรมนูญ เทียนเงิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ อดีตผู้อำนวยการลูกเสือชาวบ้านพระนคร มีศักดิ์เป็นอา ของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย

การเมือง
นายธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นชาวจังหวัดชลบุรี[1] ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2513 ถึง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2518 นับเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 5 ต่อจาก นายใหญ่ ศวิตชาติ ระหว่างนี้เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยช่วงสั้น ๆ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ถึง 13 มีนาคม พ.ศ. 2518 ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 35 ของไทย) พ้นตำแหน่งพร้อมกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะเนื่องจากการแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จากพรรคกิจสังคม ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยพรรคกิจสังคมที่มีเพียง 18 เสียงเป็นแกนนำ
นายธรรมนูญ เทียนเงิน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ถึง 29 เมษายน พ.ศ. 2520 โดยได้รับเลือกตั้งตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก การเลือกตั้งมีขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2518 นายธรรมนูญ เทียนเงิน ลงเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยคะแนนเสียง 99,247 คะแนน โดยในครั้งนั้นมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพียงร้อยละ 13.86
ซึงในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครที่น่าสนใจคือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ หัวหน้ากองวิชาการจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ที่เพิ่งลาออกมาเข้าสู่วงการเมืองเป็นครั้งแรกในนาม พรรคพลังใหม่ และในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้รับคะแนนเสียงในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในเป็นจำนวนมาก แต่พ่ายแพ้คะแนนในเขตชั้นนอก เช่น หนองแขม มีนบุรี ซึ่งมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์โดยรวมสูงถึงร้อยละ 80 ทำให้ นายธรรมนูญ เทียนเงิน ชนะการเลือกตั้ง หลังดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่นาน นายธรรมนูญ ได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ได้รับเลือกตั้งจากพรรคให้ดำรงตำแหน่งแทน

เหตุการณ์ 6 ตุลา
ระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ขึ้น โดยที่นายธรรมนูญมีอีกสถานะหนึ่งเป็นผู้นำลูกเสือชาวบ้านพระนคร ในเวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งให้นายธรรมนูญ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานครเข้าเฝ้าฯ มีรับสั่งเกี่ยวกับการที่มีลูกเสือชาวบ้านจากต่างจังหวัดนับหมื่นคนมาชุมนุม มีรับสั่งให้นายธรรมนูญชี้แจงให้ลูกเสือชาวบ้านสลายตัว ต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพร้อมกับนายธรรมนูญ มายังที่ชุมนุมลูกเสือชาวบ้าน และมีพระราชดำรัสให้ลูกเสือชาวบ้านสลายการชุมนุม ซึ่งหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ได้นำพระราชดำรัสสมเด็จพระบรมฯดังกล่าวมาตีพิมพ์ ความว่า
"ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนยิ้มแย้มและใจเย็นๆ ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ แต่ต้องค่อยแก้ค่อยไป บ้านเมืองตอนนี้กำลังต้องการความสามัคคีและกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สำคัญ ฉะนั้นขอให้ทุกคนสลายตัวเสีย ถือว่าให้ของขวัญกับข้าพเจ้า ท่านเหนื่อยกันมามากแล้ว ขอให้กลับไปหลับนอนเสียให้สบาย ทุกคนโปรดทราบว่า สองล้นเกล้าฯทรงเป็นห่วง ไม่มีอะไรที่สองล้นเกล้าฯจะเสียใจเท่ากับพวกเราฆ่ากันเอง ขอให้ทุกคนโชคดี"

นายธรรมนูญ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจนครบวาระ 4 ปี เนื่องจากหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พิจารณาว่าเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ และตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 ปลดนายธรรมนูญออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2520 และให้กลับไปใช้รูปแบบการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเช่นเดิม หลังเหตุการณ์ปลดนายธรรมนูญจากตำแหน่ง กรุงเทพมหานครไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการอีกเลยเป็นเวลา 8 ปี โดยมีผู้ว่าราชการจากการแต่งตั้งอีก 4 คน จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งที่ 2 ขึ้นในปี พ.ศ. 2528 และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในนาม "กลุ่มรวมพลัง" ได้รับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร